รายงานพิเศษ (ตอนที่ 2) ‘เกาะกูด’เป็นของใคร? ‘MOU44’ยกดินแดนไทยให้กัมพูชาจริงไหม? Special Report 2/2

By : Zhang Taehun

MOU44 คือการที่ไทยยอมรับการลากเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาจริงหรือ?

นอกจากเรื่องเสียเกาะกูดให้กัมพูชาแล้ว ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือ อาณาเขตและผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งเป็นเหตุผลของฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 อาทิ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กวันที่ 4 พ.ย. 2567 ก่อนหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจะแถลงข่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยอ้างว่า ได้ฟังคำชี้แจงจากบุคคลท่านหนึ่งที่เป็นคณะทำงาน MOU 44 แล้วบอกได้อย่างเต็มปากว่าเคลียร์ทุกเรื่อง เว้นแต่การกำหนดเส้นไหล่ทวีปเป็นการอ้างสิทธิของกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ เฉพาะเส้นนี้ที่แปลกใจ ฝ่ายไทยไปยอมรับได้อย่างไร ซึ่งไทยไม่เคยยอมรับตั้งแต่ปี 2515 จนมาบันทึกใน MOU 44

นพ.วรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ต้องถามคือการอ้างสิทธิในเส้นไหล่ทวีปต้องมีเหตุผล แม้จะอ้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่กฎหมายระหว่างประเทศยอมรับ เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูดก็ไม่สมเหตุผล เพราะประวัติศาสตร์ระบุไว้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย เส้นที่เล็งจากจุดสูงสุดของเกาะกูด ก็เพื่อกำหนดหลักหมุดที่ 73 ซึ่งเป็นเขตแดนทางบกไม่ใช่ทางทะเล

ปัญหาที่นำไปสู่พื้นที่ทับซ้อนที่มีขนาดใหญ่เท่ากับจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง ยะลา นราธิวาสและปัตตานี รวมกัน 26,000 ตร.กม. ก็เกิดจากการที่ฝ่ายเราไปยอมรับว่าเขาอ้างสิทธิ ซึ่งเป็นการอ้างสิทธิที่ตามใจชอบ ยังไม่นับรวมเงื่อนไขใน MOU 44 ที่บ่งบอกว่าไทยเสียเปรียบเรื่องดินแดนในอนาคต นี่คือจุดที่ต้องทบทวน MOU 44 เพราะจะนำไปสู่ปัญหาทุกอย่าง รวมทั้งดินแดนทางทะเล ส่วนของทะเล ผืนทราย และทรัพยากรโดยรอบเกาะกูดด้านประชิดกัมพูชา เกาะกูดเราจะเหลือแค่เกาะ แต่รอบเกาะด้านประชิดกัมพูชากลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนนพ.วรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในบทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ปัญหาและพัฒนาการ” ฉบับเต็ม ในหน้า 6-12 สุรเกียรติ์ บรรยายไว้ว่า กัมพูชาได้ประกาศเขตไหล่ทวีปแต่ฝ่ายเดียวครั้งแรกเมื่อวันที่6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) แต่เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศนั้นไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงไม่ยอมรับ ต่อมารัฐบาลกัมพูชาประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในอ่าวไทย ลงนามโดย ลอนนอล ประธานาธิบดีของกัมพูชาในขณะนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) 

โดยการประกาศเขตไหล่ทวีปในครั้งนี้มีพื้นที่ประมาณ 16,200 ตารางไมล์ เขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นเริ่มต้นจากจุด A ซึ่งอ้างว่าเป็นหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ 73 จากนั้นเส้นเขตไหล่ทวีปลากไปทางทิศตะวันตกเฉียงลงใต้เล็กน้อย ผ่านกึ่งกลางเกาะกูดเลยออกไปในอ่าวไทย ถึงประมาณกลางอ่าว แล้วหักลงทางใต้ไปเกือบสุดอ่าวไทย จึงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โอบล้อมเกาะฟูกว๊อกของเวียดนาม แล้ววกขึ้นทางเหนือเข้าบรรจบฝั่งที่จุด B ซึ่งอ้างว่าเป็นจุดเขตแดนของเวียดนาม-กัมพูชาที่ริมฝั่งทะเล ดัง “รูป 1”

รูป1 และ รูป2

กัมพูชาไม่เคยอ้างอธิปไตยเหนือเกาะกูด

ประเด็นที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาในอ่าวไทยนั้น เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดนั้นเป็นการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะกูดหรือไม่ แผนที่แนบท้ายกฤษฎีกาในครั้งนั้นเป็นเพียงแผนที่โดยสังเขปที่กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ใช้ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) แต่หากพิจารณากฤษฎีกาที่ 439/72/PRK ที่แผนที่ผนวกเป็นแผนที่เดินเรือขนาดมาตรฐานของกรมอุทกศาสตร์ฝรั่งเศส แสดงเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทั้งหมด ลงนามโดยประธานาธิบดีลอนนอล ลงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) จะเห็นว่าเส้นเขตไหล่ทวีปไม่ได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูด ดัง รูป 2

จากรูปที่ 2 เห็นได้ว่าเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากจากจุด A บริเวณชายฝั่งมายังเกาะกูดนั้น เส้นได้มาหยุดอยู่บริเวณขอบของเกาะกูดด้านตะวันออก และเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านทิศตะวันตกออกไปกลางอ่าวไทยไม่มีการลากเส้นผ่านเกาะกูดแต่อย่างใด นอกจากนั้นหากสังเกตบริเวณเส้นทางทิศตะวันตกจะเห็นอักษรภาษาอังกฤษกำกับว่า “Koh Kut (Siam)” ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย

หลังจากนั้นประเทศกัมพูชาได้ประกาศกฤษฎีกากำหนดทะเลอาณาเขตของกัมพูชา หมายเลข 518/72/PRK ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2515 โดยประกาศกฤษฎีกาดังกล่าวมีแผนที่แนบท้ายและลงนามโดยประธานาธิบดีลอนนอล โดยประกาศกฤษฎีกาดังกล่าวจะแสดงให้เห็นชัดเจนถึงเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างว่าได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดหรือไม่ ตาม รูปที่ 3

รูป 3 และ รูป 4

เมื่อพิจารณาแผนที่แนบท้ายประกาศทะเลอาณาเขต มีการลากเส้นจากจุด A มายังจุด E1 โดยการลากเส้นดังกล่าวเป็นเส้นเดียวกับเส้นกำหนดเขตไหล่ทวีป ตรงจุด E1 จะมีเครื่องหมายบวก (++++) ทอดชิดกับขอบเกาะกูดด้านตะวันออกลงมาทางใต้จนถึงจุด E2 ที่ปลายเกาะกูดด้านใต้เครื่องหมายบวกตามเครื่องหมายในแผนที่หมายความถึง เขตแดนระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่า การลากเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นเป็นการลากเส้นจากจุด ยังเกาะกูด โดยหยุดอยู่บริเวณขอบของเกาะกูดด้านตะวันออก และเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านทิศตะวันตกออกไปกลางอ่าวไทย ไม่ได้ลากผ่านกึ่งกลางเกาะกูดอย่างที่เข้าใจกัน

ดังนั้น กัมพูชาก็ไม่เคยอ้างอธิปไตยเหนือเกาะกูด ประเทศไทยต่างหากที่มีอธิปไตยเหนือเกาะกูดตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 2 ซึ่งระบุว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม” กรณีการลากเส้นของกัมพูชาที่ลากเส้นจากจุด A ไปยังเกาะกูดนั้น เส้นดังกล่าวกัมพูชาได้อ้างสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 หนังสือสัญญาไทยฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2450 หรือ ค.ศ. 1907) ซึ่งมีสัญญาต่อท้ายว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับดินแดนกัมพูชาของฝรั่งเศส 

ซึ่งข้อ 1 ของสัญญาต่อท้ายนี้ได้ระบุว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานแล” ว่าเป็นข้อความที่กำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา โดยวิธีการลากเส้นจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดตรงไปยังเส้นเขาพนมกระวานแล และถือว่าเส้นที่ลากดังกล่าวเป็นเส้นแบ่งเขตทะเลซึ่งมีผลผูกมัดไทย

กัมพูชาได้ตีความหนังสือสัญญาในลักษณะตีความตามตัวอักษร โดยอ้างว่าข้อความดังกล่าวเป็นการแบ่งเขตทางทะเล แต่ถ้าหากพิจารณาเจตนารมณ์ของหนังสือสัญญาและสัญญาต่อท้ายว่าด้วยการปักปันเขตแล้ว จะเห็นได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่รัฐบาลฝรั่งเศสทำขึ้นเพื่อคืนดินแดนทางบกที่เคยยึดไปจากประเทศไทย โดยไม่มีข้อความใดที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนทางทะเล การที่สัญญาแนบท้ายระบุเส้นเขตแดนเริ่มจากทะเลนั้นไม่ได้หมายความว่า ภาคีมีเจตนาแบ่งเขตทางทะเล แต่เพียงแสดงว่าแนวเขตหันทิศจากทะเลไปสู่ผืนแผ่นดินมิใช่จากผืนแผ่นดินมายังทะเล 

การที่สัญญาแนบท้ายระบุให้ใช้จุดยอดเขาสูงสุดของเกาะกูดเป็นหลักในการกำหนดเขตแดน ก็เพื่อใช้เล็งกับสันเขาพนมกระวาน เนื่องจากในการปักปันเขตแดนจำต้องอาศัยจุดเด่นในทางภูมิศาสตร์ที่มั่นคงเป็นหลัก ดังนั้น เส้นตรงที่เล็งระหว่างยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดกับสันเขาพนมกระวานจะต้องถือว่าเป็นเส้นสมมติ (Imaginary Line) ที่ใช้สำหรับกำหนดที่ตั้งของจุดเริ่มต้นของแนวเขตแดนทางบก การถือว่าเป็นเส้นแบ่งเขตทางทะเลจึงไม่ถูกต้องนัก 

ในขณะที่ประเทศไทยได้มีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 โดยยึดหลักเขตแดนที่ 73 เป็นจุดเริ่มต้นในการลากเส้นเขตทางทะเลออกไปในอ่าวไทยเช่นเดียวกับประเทศกัมพูชา แต่เป็นการลากเส้นลงไปจากจุด 1 ที่ละติจูดเหนือ11°39´.0 ลองติจูดตะวันออกที่ 102°55´.0 ไปยังจุด 2ที่ละติจูดเหนือ 09°48´.5 ลองติจูดตะวันออก 101°46´.515

ซึ่งจะเห็นว่าเส้นเขตไหล่ทวีปของไทยลากลงระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง (Koh Kong) ของกัมพูชาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของไทยดังกล่าวถือเป็นการสงวนสิทธิของประเทศไทยตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ. 1958 (และได้รับการรับรองโดยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982) เหนือเขตพื้นที่ไหล่ทวีปตามที่ได้ประกาศไว้ดัง รูป 4

ภาพที่ 6 และ 7 : แผนที่กัมพูชาลากเส้นเขตแดนทางทะเลซึ่งมีข้อขัดแย้งกับไทย

เมื่อไปดูสาระสำคัญคือ MOU เมื่อปี 2544 หรือ MOU44 ซึ่งมีชื่อเต็มว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา โดยผู้แทนฝ่ายไทยคือ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ส่วนผู้แทนฝ่ายกัมพูชาคือ สก อัน  (บางแหล่งเขียนว่า ซก อาน) รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา

หนังสือ ประมวลสนธิสัญญา : อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจและแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุเนื้อหาของ MOU ดังกล่าว ไว้ในหน้า 240-241 ดังนี้ 

1.ภาคีผู้ทำสัญญาพิจารณาว่าเป็นที่พึงปรารถนาที่จะทำข้อตกลงชั่วคราว ซึ่งมีลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้ในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน

2.เป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจาที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน

(ก)จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาการพัฒนาร่วม) และ

(ข) ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย

เป็นเจตนารมณ์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ (ก) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้

3.เพื่อวัตถุประสงค์ตามข้อ 2 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากแต่ละประเทศแยกต่างหากกัน

คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคมีหน้าที่รับผิดชอบ สำหรับการกำหนด

(ก) เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันของสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม รวมถึงพื้นฐานซึ่งยอมรับกันในการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และ

(ข) การแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ระหว่างเขตที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งใช้บังคับ

4.คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคจะประชุมกันโดยสม่ำเสมอเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยเร็ว คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคอาจจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามที่เห็นว่าเหมาะสม

5.ภายใต้เงื่อนไขการมีผลบังคับใช้ของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา

อดีตร.ปท.ยืนยัน กรอบMOU44รักษาผลประโยชนสูงสุด ไม่ใช่การยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลตามกัมพูชาอ้าง

บทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ” ในหน้า 27-40 สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีตางประเทศ อธิบายประโยชน์ที่ฝ่ายไทยได้รับจาก MOU44 ดังนี้ 

1.การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เจรจา ถือว่ายังไม่เป็นการผูกพันประเทศไทยว่าจะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเหนือพื้นที่ทับซ้อน หรือต้องกำหนดเส้นเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาแต่อย่างใด เพราะเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเจรจาหลักการทั้งสองเรื่องว่าแต่ละฝ่ายมีความเห็นและจุดยืนอย่างไร เพื่อจะให้บรรลุถึงข้อตกลง ซึ่งหากมีจุดยืนที่สอดคล้องที่จะนำ ไปสู่ข้อตกลงกันได้แล้วแต่ละฝ่ายก็ต้องดำ เนินการตามขั้นตอนของกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งต่างหากในอนาคต

การมีคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคขึ้นมาทำหน้าที่เจรจา จะทำให้ฝ่ายไทยสามารถรับทราบถึงจุดยืนต่าง ๆ ของฝ่ายกัมพูชาได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านกฎหมายและด้านการแบ่งผลประโยชน์เหนือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อที่จะได้ให้ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานได้ร่วมกันวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงแนวทางของความร่วมมือระหว่างกันอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะต้องมีการพิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียในแต่ละทางเลือกของไทย ตลอดจนการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจา 

ซึ่งแตกต่างจากการเจรจาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาก่อนการจัดทำบันทึกความเข้าใจนี้ ที่ไม่มีการเสนอท่าทีของฝ่ายตนในเรื่องวิธีการและหลักการการกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ชัดเจนและเป็นทางการ ซึ่งทำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยไม่สามารถกำหนดท่าทีและจุดยืนทั้งทางกฎหมายและทางเศรษฐศาสตร์ร่วมกันอย่างจริงจัง

2.บันทึกความเข้าใจนี้ทำให้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดจากการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ (ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน) อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าอันอาจนำ ไปสู่ข้อขัดแย้งที่รุนแรงจนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่กระทบต่อความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างทั้งสองประเทศระหว่างกัน สามารถแก้ไขร่วมกันได้ด้วยการเจรจาแบบสันติวิธี และแยกเป็นเอกเทศจากปัญหาความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ โดยให้นำความเห็นหรือท่าทีที่แตกต่างกันในเรื่องการลากเส้นเขตทางทะเลและการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนนั้น มาสู่เวทีของการเจรจาทางด้านเทคนิค หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการแปรข้อขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ (turn conflict into cooperation) ซึ่งก็เป็นวิธีการในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศในเรื่องทับซ้อนทางทะเลที่ประเทศจำนวนมากในโลกปัจจุบันใช้กัน

3.บันทึกความเข้าใจนี้ได้ผูกประเด็นเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Area) หรือที่บันทึกความเข้าใจนี้เรียกว่า พื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area) กับการเจรจาเส้นแบ่งเขตทางทะเล (Maritime Boundary Delimitation) เอาไว้ด้วยกัน โดยได้ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการเจรจาทั้งสองเรื่องนี้จะแยกต่างหากจากกันมิได้ (Indivisible Package) กล่าวคือจะต้องเจรจาพร้อมกันไป ซึ่งฝ่ายไทยแม้จะเห็นว่าการสำรวจและขุดเจาะน้ำ มันและก๊าซธรรมชาติก็เป็นความประสงค์ของฝ่ายไทยที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางด้านอุปทาน (Security of Supply) และต้องการกระจายการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Diversity of Sources of Supply) ในอ่าวไทยและทะเลอันดามันก็ตาม 

แต่ผลประโยชน์ที่สำคัญของไทยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ความชัดเจนในจุดเริ่มของการลากเส้นเขตทางทะเล ดังนั้น ในแง่มุมของการเจรจาแล้ว ฝ่ายไทยจึงได้อาศัยความต้องการของฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการเร่งรัดการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วม เป็นปัจจัยในการผลักดันให้การเจรจาเส้นเขตทางทะเลมีความคืบหน้าและเป็นที่ตกลงกันได้ของทั้งสองฝ่ายโดยเร็วเช่นกัน

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ หากไม่มีการผูกประเด็นเรื่องการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมกับการเจรจาพื้นที่ที่ต้องการแบ่งเส้นเขตทางทะเลเอาไว้ให้ต้องดำเนินการเจรจาควบคู่กันไปแล้ว ก็มีข้อห่วงกังวลว่ากลุ่มเศรษฐกิจการเมืองอาจเข้ามามีบทบาทและผลักดันจนทำให้การตกลงในเรื่องการพัฒนาร่วมเกิดขึ้นได้โดยง่าย โดยอาจทำให้ฝ่ายไทยต้องสูญเสียอำนาจต่อรองในการเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนกับกัมพูชา

สุรเกียรติ์ อ้างถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไทย (ฉบับ 2540 ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ และฉบับ 2550 ในขณะที่เขียนบทความนี้) โดยอธิบายว่า..

การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางด้านน้ำ มันและก๊าซธรรมชาติ โดยไม่กระทบต่อเรื่องเส้นเขตแดนนั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในกรณีการเจรจาเส้นเขตทางทะเลนั้น แม้จะเป็นเพียงการตกลงกันเกี่ยวกับจุดที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการลากเส้นเขตทางทะเล ก็จะถือว่าเป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ด้วยเหตุนี้ การผูกประเด็นการเจรจาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรเหนือพื้นที่พัฒนาร่วมเอาไว้กับเรื่องการเจรจาแบ่งเส้นเขตแดนโดยไม่อาจแยกออกจากกันได้ดังที่ระบุไว้ในข้อ 2 วรรค 2 ของบันทึกความเข้าใจนั้น จึงมีผลทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถที่จะรวบรัดทำการตกลงที่มีผลเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์เหนือทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

เพราะแม้จะมีการตกลงในรายละเอียดของการแบ่งปันผลประโยชน์จนเสร็จสิ้นแล้วก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้เกิดผลใดๆ ในทางปฏิบัติได้ เนื่องจากจะต้องนำความตกลงเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์เหนือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วม เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบควบคู่กับความตกลงเกี่ยวกับการกำหนดเส้นเขตทางทะเล

หมายเหตุ : สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็กำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 โดยอยู่ในมาตรา 178 ระบุว่า

มาตรา 178 (วรรคสอง) หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

นอกจากนั้นยังกำหนดเพิ่มเติมในส่วนของการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากร ซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (มาตรา 224) และเป็นการอธิบายความในส่วนนี้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 (มาตรา 190) ให้ชัดเจนขึ้นด้วยว่า

มาตรา 178 (วรรคสาม) หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ 

มาตรา 178 (วรรคสี่) ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย

4.แผนผังกำหนดเขตพื้นที่พัฒนาร่วมและเขตพื้นที่ที่ต้องแบ่งเส้นเขตแดนซึ่งจัดทำแนบท้ายบันทึกความเข้าใจนี้ เป็นสิ่งที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม และผู้เชี่ยวชาญด้านเขตทางทะเลของฝ่ายไทย ได้ให้ความสำคัญในการเจรจามาโดยตลอด กล่าวคือ ฝ่ายไทยต้องการยืนยันจุดยืนที่กำหนดให้เส้นแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาต้องลากออกจากหลักเขตแดนที่ 73 เพื่อให้เขตพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Area) ไม่ครอบคลุมอาณาเขตที่กว้างขวางเกินไป และยืนยันจุดยืนว่าเกาะกูดอยู่ในเขตแดนของไทย ซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907

สุรเกียรติ์ ยังอ้างไว้ในบทความด้วยว่า ในการเจรจาก่อนการจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้(MOU44) ฝ่ายกัมพูชาตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจนถึงระดับสูงได้กล่าวถึงเกาะกูดว่าอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเกาะกูดอยู่ในเขตแดนของกัมพูชาอยู่เนืองๆ มีครั้งหนึ่งในช่วงระหว่างการเจรจาบันทึกความเข้าใจนี้ ตนเคยพูดกับผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของกัมพูชาว่า “ถ้าเส้นเขตทางทะเลลากจากฝั่งและผ่ากลางเกาะกูดแล้ว ในทางปฏิบัติก็คงจะแปลกดี เพราะคนไทยขึ้นบนเกาะกูดจากฝั่งไทย ถ้าจะลงมาเล่นน้ำ อีกฝั่งของเกาะต้องถือพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง) มาด้วย” 

และครั้งหนึ่งในการหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้กล่าวกับตนว่า “กัมพูชาจะยกเลิกข้อเรียกร้อง (Claims) ที่ถือว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชากึ่งหนึ่ง และถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย คือ จะยกอธิปไตยเหนือเกาะกูดให้ไทย แต่อย่าเพิ่งประกาศ เพราะจะเกิดปัญหาทางการเมืองภายในกัมพูชาได้”

ซึ่งแม้ตนจะเห็นว่าข้อเรียกร้องเหนือเกาะกูดกึ่งหนึ่งนั้นจะไม่มีฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ แต่ข้อเรียกร้องนั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถเรียกร้องกันได้ เพราะในกฎหมายระหว่างประเทศ การเรียกร้องสิทธิกับการมีสิทธินั้นเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น ในการเจรจาระหว่างประเทศนั้น เมื่อคู่เจรจายอมถอนข้อเรียกร้องก็ย่อมถือเป็นสิ่งที่ดีนอกจากนั้น ยังนำ ไปสู่การที่ฝ่ายกัมพูชายินยอมให้มีแผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจที่แสดงให้เห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยอีกด้วย

ถึงแม้ว่าบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดของการเจรจาที่จะมีผลผูกพันทั้งสองประเทศเกี่ยวกับเส้นเขตทางทะเล แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการที่รัฐบาลกัมพูชาในปัจจุบันได้ยอมรับอย่าเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประเทศไทยมีอธิปไตยเหนือเกาะกูด ดังนั้น แผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจนี้จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยพอใจ เพราะแสดงถึงความคืบหน้าในการเจรจาจุดเริ่มต้นของการลงเส้นเขตทางทะเลจากหลักเขตแดนทางบกที่ตรงกับจุดยืนของไทย และเส้นที่ลากนั้นได้ยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด และยังยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือทะเลอาณาเขตรอบๆเกาะกูดอีกด้วย

5.บันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้ลงนามโดยผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ จึงมีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969และนับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่สามารถเจรจาเพื่อให้รัฐบาลกัมพูชายอมรับอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก ถึงการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของไทย ตามประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 อันก่อให้เกิดเขตทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชาที่ได้ประกาศเขตไหล่ทวีปไปก่อนหน้านี้ 

โดยบันทึกความเข้าใจนี้ได้ระบุว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการตกลงในเรื่องสิทธิเรียกร้องทางทะเลในเขตที่จะมีการกำหนดเส้นเขตทางทะเล หรืออีกนัยหนึ่งคือ ในช่วงที่อยู่ระหว่างการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมและเขตพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตทางทะเลตามข้อ 2 (a หรือ ก) และ (b หรือ ข) นั้น ข้อความต่างๆ ที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจนี้ก็ดี และการดำ เนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้ก็ดีจะไม่มีผลกระทบต่อข้อเรียกร้องสิทธิทางทะเลของทั้งสองประเทศ ซึ่งอยู่ในข้อ 5 ของ MOU44

สุรเกียรติ์ ย้ำว่า บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายไทย เพราะเป็นการที่ฝ่ายกัมพูชายอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ฝ่ายไทยก็มีข้อเรียกร้องสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับเส้นเขตทางทะเล และในระหว่างการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ตกลงกันนี้ และสิ่งที่ไม่อาจตกลงกันได้ก็จะไม่กระทบต่อสิทธิเรียกร้องต่างๆ ที่ฝ่ายไทยมีอยู่มาก่อน 

ดังนั้น ข้อตกลงข้อ 5 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ฝ่ายไทยได้โน้มน้าวฝ่ายกัมพูชาจนยอมเห็นชอบให้มีบทบัญญัตินี้ในบันทึกความเข้าใจ ย่อมเป็นข้อป้องกันสถานะทางกฎหมายของไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนกว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงกันทั้งในเรื่องพื้นที่พัฒนาร่วมและเรื่องเส้นแบ่งเขตทางทะเล ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับ 2540 และ 2550 (รวมถึงฉบับ 2560) ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้

6.บันทึกความเข้าใจนี้ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อ 3 (b หรือ ขว่า การเจรจาที่จะนำไปสู่การกำหนดเขตทางทะเลนั้น จะต้องกระทำโดยอยู่ภายใต้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นจุดยืนที่ประเทศไทยยึดถือมาโดยตลอด และเป็นการผูกมัดฝ่ายไทยเองด้วย ว่าในการเจรจาตกลงอย่างไรนั้นต้องเป็นไปตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลทำให้ทุกฝ่ายในขณะนั้นและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ต้องผูกพันตามแนวทางและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดไว้

7.บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นการเจรจาเพื่อนำไปสู่การเจรจาแนวทางการพัฒนาร่วมและการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมเหนือพื้นที่พัฒนาร่วม ซึ่งหากสามารถเจรจาจนได้ข้อยุติโดยเร็วและสามารถนำ เอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ฝ่ายไทยย่อมจะได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมดังกล่าวมากเนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการทางด้านพลังงานและปริมาณพลังงานสำรอง อีกทั้งไทยยังมีความพร้อม มีประสบการณ์และมีศักยภาพในการร่วมลงทุนเพื่อสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และมีบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นของตนเองอีกด้วย

ภาพที่ 8 : สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงที่ไทย-กัมพูชา ร่วมลงนาม MOU44 และเป็นผู้เขียนบทความ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ” เผยแพร่ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับที่ 92 ปี 2554 (ขอบคุณภาพจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ)

ในรายงานข่าว “เปิดเบื้องลึก MOU ไทย-กัมพูชา เรื่องเกาะกูด จากปากอดีต รมว.ต่างประเทศ” ของ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 5 พ.ย. 2567 ได้สรุปมุมมองจากบทความของ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไว้ว่า MOU44 มีกลไกคุ้มครองผลประโยชน์ของไทยหลายประการ 1.การเจรจาต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 2.ไม่กระทบต่อสิทธิเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายจนกว่าจะมีข้อตกลงสุดท้าย3.ข้อตกลงสุดท้ายต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และ 4.มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคเพื่อศึกษาและเจรจารายละเอียด

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2554 สุรเกียรติ์ ชี้ประเด็นท้าทายไว้ด้วยว่า บริษัทน้ำมันข้ามชาติของประเทศมหาอำนาจได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณตอนใต้ของกัมพูชา ซึ่งบริษัทน้ำมันข้ามชาติของมหาอำนาจหลายประเทศให้ความสนใจและต้องการเข้ามาแสวงประโยชน์จากแหล่งน้ำ มันและก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนผ่านทางรัฐบาลกัมพูชามากขึ้น เพื่อขายให้แก่ประเทศไทยเป็นหลักและกัมพูชาเป็นอันดับรอง 

ซึ่งการพบแหล่งพลังงานและความสนใจของบริษัทข้ามชาติที่มีต่อแหล่งพลังงานในกัมพูชานี้ อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาความยุ่งยากในการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยควรเร่งการเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมๆ ไปกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลในส่วนพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตซึ่งเป็นส่วนบนของพื้นที่ทับซ้อนตามจุดยืนของประเทศไทย

โดยสรุปแล้ว “การจะบอกว่า MOU44 คือการที่ไทยยอมรับการลากเส้นเขตแดน (ทางทะเล) ของกัมพูชา อันอาจทำให้ไทยเสียดินแดนได้ จึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะ MOU44 เป็นเพียงบันทึกว่าไทยและกัมพูชา ฝ่ายใดมีมุมมองหรือข้อเรียกร้องอย่างไรบ้าง แต่สิ่งเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการที่ทั้ง 2 ชาติต้องเจรจากันจนกระทั่งได้ข้อสรุป และต้องเจรจากันภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งในกรณีของไทย แม้คณะผู้แทน (คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค) จะไปเจรจากันมาแล้ว ก็ยังต้องมาผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภา อันประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.)” ประกอบกับกลไกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังเพิ่มเติมในส่วนของกผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีช่องทางให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย

ในช่วงที่มีการถกเถียงเรื่อง MOU44 ในฝ่ายที่กังวลกับบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว บางส่วนอ้างว่า รัฐบาลไทยสมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2552-2554) ได้ยกเลิกไปแล้ว อาทิ รายงานข่าว ย้อนมติ ครม. ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน” ของ นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 1 พ.ย. 2567 อ้างความเห็นของ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ระบุว่า ครม.อภิสิทธิ์ มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2552 ให้ยกเลิก MOU44 

จริงอยู่ที่ว่าการยกเลิก MOU 2544 จนปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ แต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างแน่นอน และยังมีผลจนถึงปัจจุบันหากยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของทุกกระทรวงจะดำเนินการไปในหลักการอื่นโดยฝ่าฝืนต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 จะทำต่อไปได้อย่างไร ยกเว้นเสียแต่ว่ามีการขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีเสียใหม่ จริงหรือไม่?” ปานเทพ กล่าวในโพสต์เฟซบุ๊ก

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าปัจจุบัน MOU44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 พ.ย. 2567 ตามรายงานข่าวของ ThaiPBS ที่ระบุว่า ประเด็นยกเลิก MOU 44 เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในปี 2552 ซึ่งเสนอให้ยกเลิก เพราะขณะนั้นไม่มีความคืบหน้า และ ครม.รับในหลักการ แต่ได้ขอให้มีพิจารณาให้รอบคอบและได้หารือกับที่ปรึกษาทีมต่างชาติ และประชุมคณะกรรมการพิเศษที่เป็นภาคี และหน่วยงานด้านความมั่นคง อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงพลังงาน รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา 

โดยปี 2557 ได้ข้อสรุปว่า MOU 44 ยังมีประโยชน์ที่จะนำไปสู่การเจรจา จึงเสนอ ครม.ให้ทบทวนมติ ครม.ปี 2552 ว่าเรื่องนี้ต้องใช้ MOU 44 ต่อ ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ยังขอให้กรอบ MOU 44  เป็นพื้นฐานในการเจรจาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งทุกรัฐบาลก็ยอมรับและหลักการยังเหมือนเดิม

นอกจากนั้น รายงานข่าว “‘บิ๊กป้อมประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม” โดยสำนักข่าวอิศรา วันที่ 4 ต.ค. 2564 อันเป็นยุคสมัยของรัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลานั้นมีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) เพื่อพิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area-OCA) รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่เป็นการประชุมลับ จึงไม่มีการแถลงผลการประชุมกับสื่อ แต่ทางสำนักข่าวอิศรา สรุปร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (OCA) ที่เสนอให้ที่ประชุม JTC ฝ่ายไทย พิจารณา กำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจาไว้ 3 ประเด็น ได้แก่

1.การแก้ปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร

2.การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เมื่อปี 2544 (MOU 2544) ซึ่งประกอบด้วย การเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ

3.ในการดำเนินการเจรจาให้ใช้กลไกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ตามที่ตกลงกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว

รวมถึงในวันที่ 5 พ.ย. 2567 รายงานข่าว กษิต อัดแรง พวกปลุกเสียเกาะกูด เล่ายิบเหตุรบ.มาร์ค ยกเลิก MOU44 แต่ไม่สำเร็จ-หนุนเจรจาต่อ โดย นสพ.มติชน อ้างคำกล่าวของ กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ระบุว่า เหตุที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัดสินใจยกเลิก MOU 44 มาจากการที่ ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาในขณะนั้น ได้ตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทย เป็นที่ปรึกษากัมพูชา 

ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้นเห็นว่าการกระทำของนายฮุนเซนนั้น ไม่น่ารัก ไม่เป็นมิตร และแทรกแซงกิจการภายในของไทย รัฐบาลขณะนั้นจึงต้องการแสดงออกว่าไม่พึงพอใจ ด้วยการยกเลิก MOU 44 แล้วก็ต้องการบอกกับอดีตนายกฯ ทักษิณด้วยว่า การกระทำดังกล่าวไม่น่ารักเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อมีมติ ครม.ออกมา ก็ต้องมีกระบวนการต่างๆ เพื่อจะนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้าราชการประจำ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศก็ดำเนินการอยู่ 

แต่ว่ารัฐบาลในขณะนั้นก็ยุบสภาพ้นจากตำแหน่งไป ก็เท่ากับว่าเรื่องนี้ยังค้างอยู่ โดยผ่านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน กระทั่งรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ก็เท่ากับว่า MOU 44 ยังมีชีวิตอยู่ และล่าสุด นายกฯ แพทองธารก็ได้ยืนยันว่า MOU 44 ยังมีชีวิต และยังอยู่ในการเตรียมการที่จะแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยต่อไป กษิต กล่าว

จากข้อมูลที่รวบรวมมาข้างต้น จึงสรุปได้ดังนี้ 1.เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ที่ระบุไว้ชัดเจน 2.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ทำขึ้นในปี 2544 หรือ MOU44 ยังไม่ใช่ข้อตกลงที่ฝ่ายใดจะยอมรับเส้นเขตแดนหรือผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้าง ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการเจรจาผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะส่งตัวแทนเข้ามา อีกทั้งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ยังต้องมาผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของไทย 

และ 3.ปัจจุบัน MOU44 ยังไม่ถูกยกเลิก และรัฐบาลชุดล่าสุดภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ก็กล่าวชัดเจนว่าไม่ยกเลิก โดยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ได้ย้อนถามว่า “ถ้ายกเลิกแล้วได้อะไร” ซึ่งการยกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศอาจคิดไม่เหมือนกันได้ เมื่อคิดไม่เหมือนกันก็ต้องมีข้อตกลงเพื่อมาพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ การรักษาความสงบของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นใน MOU นี้ เปิดให้ทั้งสองประเทศพูดคุยกัน ซึ่งหากไทยยกเลิกอาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ไม่มีประโยชน์ใดๆ

หลังจากนี้ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค เพื่อเป็นคณะผู้แทนฝ่ายไทยไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชาเมื่อใด? จะมีใครได้รับการแต่งตั้งบ้าง?!!!


อ้างอิง

https://www.bangkokpost.com/business/general/2881272/thailand-eyes-300bn-gas-field-frozen-by-cambodia-dispute (Thailand eyes $300bn gas field frozen by Cambodia dispute : Bangkok Post 10 9.ค. 2567)

https://thai.tourismthailand.org/Articles/ชมทะเลสวยที่-เกาะกูด-เกาะสุดท้ายแห่งน่านน้ำตะวันออกของไทย-จังหวัดตราด (ชมทะเลสวยที่ “เกาะกูด” เกาะสุดท้ายแห่งน่านน้ำตะวันออกของไทย จังหวัดตราด : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 8 ม.ค. 2563)

https://www.thaipbs.or.th/news/content/345794(ยกเลิกด่วน MOU44 พปชร.หวั่นไทยเสียดินแดนกระทุ้ง “แพทองธาร” : ThaiPBS 30 ต.ค. 2567)

https://www.naewna.com/politic/838076 (กางแผนที่‘MOU44’! อดีตรมว.คลัง ถามตรงๆไม่เรียก‘เสียดินแดน’ จะเรียกอะไร? :แนวหน้า 29 ต.ค. 2567)

https://www.thaipbs.or.th/news/content/345951 (กต.ยัน “เกาะกูด” เป็นของไทย ไม่จำเป็นต้องยกเลิก MOU 44 : Thai PBS 4 พ.ย. 2567)

https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php (เอกสารประกอบการพิจารณากรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบนี้ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ)

https://www.thansettakij.com/business/economy/611121 (เปิดเบื้องลึก MOU ไทย-กัมพูชา เรื่องเกาะกูด จากปากอดีต รมว.ต่างประเทศ : ฐานเศรษฐกิจ 5 พ.ย. 2567)

https://www.thairath.co.th/news/politic/2823643(“หมอวรงค์” ชี้ ยิ่งฟังคำชี้แจง ต้องยิ่งยกเลิก MOU 44 หากยอม ส่อเสียดินแดน : ไทยรัฐ 4 พ.ย. 2567)

http://textbooksproject.org/wp-content/uploads/books/book_1.pdf (ประมวลสนธิสัญญา : อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจและแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)

https://medias.thansettakij.com/media/pdf/2024/BjcSxq7eTLxq7Qod0I85.pdf (พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา: ปัญหาและพัฒนาการ : สุรเกียรติ์ เสถียรไทย , จุลสารความมั่นคงศึกษา ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ฉบับที่ 92 ปี 2554)

https://www.thaipost.net/hi-light/683187/ (ย้อนมติครม.ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน : ไทยโพสต์ 1 พ.ย. 2567)

https://isranews.org/article/isranews-news/103045-gov-JTC-thailand-Cambodia-OCA-Dialogue-framework-news.html (‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม : สำนักข่าวอิศรา 4 ต.ค. 2564)

https://www.matichon.co.th/politics/news_4883301 (กษิต อัดแรง พวกปลุกเสียเกาะกูด เล่ายิบเหตุรบ.มาร์ค ยกเลิก MOU44 แต่ไม่สำเร็จ-หนุนเจรจาต่อ : มติชน 5 พ.ย. 2567)

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/89854 (นายกรัฐมนตรี ยืนยันเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ไม่มีการยกเลิก MOU 44 เตรียมตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย คุย กัมพูชา ยืนยันรัฐบาล รักษาผลประโยชน์ให้คนไทย : Thaigov 4 พ.ย. 2567)