เตรียมพบกิจกรรม‘เดือนการฟังแห่งชาติ’พฤศจิกายนนี้! เพราะ‘การฟังอย่างเข้าใจ’ดีต่อทั้งตนเองและคนรอบข้าง
รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ดำเนินรายการโดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)ในวันที่ 17 ต.ค. 2567 ชวนพูดคุยกับ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสา ในประเด็น “เดือนแห่งการฟัง” ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ดร.สรยุทธ อธิบายว่า เดือนพฤศจิกายนนั้นถูกกำหนดเป็น “เดือนการฟังแห่งชาติ (National Month of Listening)” ในขณะที่ต่างประเทศแม้จะส่งเสริมการฟังอยู่บ้าง แต่จะส่งเสริมในลักษณะกำหนดเป็นวัน ใน 1 ปีมี 365 วัน กำหนดให้มีเพียงวันเดียว ประกอบกับปัจจุบันมีข้อมูลที่ท่วมท้น จริงบ้างเท็จบ้าง พริบตาเดียววันแห่งการฟังก็ผ่านไปแล้ว นำมาซึ่งการพูดคุยกัน จะเอาเป็นสัปดาห์ดีหรือไม่ ก่อนจะมาสรุปที่เป็นเดือนจะดีกว่า อีกทั้งเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนที่ 11 ซึ่งตัวเลขมีลักษณะเหมือนคนคู่กัน
“จริงๆ เดือนนี้หลายประเทศในโลกให้ความสำคัญ จะมี World Hello Day หรือวันสวัสดีโลก มี World Kindness Day หรือวันความเมตตาโลก มี International Day of Tolerance หรือวันที่เรายอมรับความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงจริงๆ ในอเมริกา จะมี Thanksgiving (วันขอบคุณพระเจ้า) แล้วก็จะมี Black Friday ที่ผู้คนออกไปช้อปปิ้ง หลังจากนั้น 1 วัน เขาจัดเป็นวันแห่งการฟัง”
ดร.สรยุทธ กล่าวต่อไปว่า ในวงสนทนานั้นจะมีทั้งการฟังและการพูด แต่หากสังเกตให้ดีๆ “เมื่อมีคนมารวมตัวกัน” เช่น ลองนึกถึงวันที่กลุ่มเพื่อนสมัยเรียนกลับมารวมกลุ่มสังสรรค์ “ความสนใจของคนส่วนใหญ่คือ การคิดว่าเมื่อไหร่ตนเองจะมีช่องให้พูดบ้าง” น้อยคนที่จะอยากรู้จักและตั้งใจฟังคนที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งวัตถุประสงค์ของการกำหนดเดือนแห่งการฟัง (หรือเดือนการฟังแห่งชาติ) ขึ้นมา คือเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เป็นของที่เราสามารถมอบให้แก่กันและกันได้ตลอดเวลา เพราะ “การฟังและความเข้าใจก็เหมือนของขวัญที่ให้ได้กับทุกคนโดยไม่ต้องใช้เงินทองซื้อหา” แต่ใช้เพียงสิ่งที่มีอยู่แล้วคือความตั้งใจและเวลา ด้านหนึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น แต่อีกด้านก็ทำให้เข้าใจตนเองด้วย เพราะนอกจากการฟังผู้อื่นแล้วยังมีการฟังโลก ธรรมชาติและสังคม โลกเป็นอย่างไร? ร้อนหรือว่าเดือด? ความเป็นไปของคนในสังคมเป็นอย่างไร? หรือในระดับลงมาก็คือคนที่อยู่ตรงหน้าเช่น ในที่ทำงาน ในครอบครัว
แต่ก่อนจะไปฟังผู้อื่นหรือโลก ต้องเริ่มจาก “ฟังตนเองก่อน” บางครั้งเราฟังคนที่อยู่ตรงหน้าได้ไม่ดีเพราะเราอยู่กับโลกในความคิดของเรา จึงเป็นที่มาของหนึ่งในแนวคิดที่นำมารณรงค์ในเดือนแห่งการฟัง ว่าด้วย “หลักการฟังที่ดี” ที่มี 3 ประการ ได้แก่ 1.ให้ 100% กับคนตรงหน้า 2.เท่าทันเสียงความคิดของเรา ไม่ไหลไปตามความคิด และ 3.ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของทั้งคนที่กำลังพูดคุยอยู่และตนเอง
“เดี๋ยวนี้เรามีเครื่องมือถอดจิตกันเยอะ ก็คือโทรศัพท์มือถือ บางทีหัวหน้าคุยกับลูกน้อง แต่ไม่ได้อยู่กับเขา 100% ดังนั้นวิธี 100% ที่ง่ายที่สุดคือวางมือถือลง มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารพูดคุย เขาบอกว่าแค่วางบนโต๊ะก็ไม่สุภาพ เพราะเป็นการบอกว่าในวงสนทนา ในโต๊ะอาหารที่เรากิน การวางมือถือแม้จะคว่ำหน้าลง มันบอกคนตรงหน้าว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากกว่า หากเก็บใส่ในกระเป๋าเลย คนก็จะรู้สึกว่าคนตรงหน้าอยู่กับเรา 100%”
ประการต่อมาคือการเท่าทันความคิดที่อยู่ในหัวสมองของเรา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ความคิดทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะเราถูกฝึกถูกสอนมาทั้งในครอบครัวและในภาคการศึกษาให้อยู่กับความคิด แต่การพูดคุยกันบ่อยครั้งคนเราก็ไม่ค่อยจะใส่ใจกับคนที่อยู่ตรงหน้า คือหูฟังผ่านๆ พลางพยักหน้าไปด้วย แต่ในใจไปคิดในเรื่องอื่น อาทิ สังเกตการแต่งกายของคู่สนทนาแล้วคิดในใจว่าวันนี้แต่งตัวดีเลือกเสื้อผ้าหน้าผมได้ดี
โดยเฉพาะเมื่อต้องฟังเรื่องที่มีความเห็นต่าง เช่น เลือกพรรคการเมืองคนละพรรค หรือคน 2 คนจะไปเที่ยวด้วยกัน คู่สนทนาอยากไปทะเลแต่ตัวเราอยากไปภูเขา อีกฝ่ายพูดเรื่องทะเลไปแต่เราที่ฟังอยู่ใจก็คิดถึงแต่ภูเขา หรือในทางกลับกัน พอคุยกับคนที่มีความเห็นเหมือนกันก็จะไหลไปกับความคิดที่สอดคล้องกับอีกฝ่ายไปเสียทั้งหมด “การฝึกเข้าใจตนเองเพื่อเข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้า ยังช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงได้ด้วย”เพราะมิจฉาชีพจะใช้ประโยชน์จากกิเลสหรือความอยากได้ของตัวเรา เช่น เมื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์มาหลอกลวงก็จะอ้างเรื่องราวต่างๆ อาทิ บอกว่าสายโทรศัพท์กำลังจะถูกตัดเพราะค้างชำระค่าบริการ สิ่งแรกหลังจากได้ฟังคือเราจะตกใจและตื่นเต้น สภาวะแบบนี้จะทำให้ไม่ได้สังเกตตนเองแต่เอาใจไปอยู่กับเรื่องราว ซึ่งมิจฉาชีพก็จะบอกให้แก้ไขและแน่นอนว่าต้องมีการโอนเงิน แต่เมื่อเปลี่ยนจากตื่นเต้นเป็นตื่นตัว จะนำไปสู่การตั้งใจฟังและมักตามด้วยการจับสิ่งผิดปกติได้ อาทิ น้ำเสียง วิธีการพูด
ประการสุดท้ายคือการให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของทั้งคนที่กำลังพูดคุยอยู่และตนเอง หากไม่ฝึกในเรื่องนี้เราก็จะไปมุ่งใส่ใจกันแต่ข้อความที่ได้ฟัง “มีตัวอย่างของคนที่เป็นคู่รัก ฝ่ายหนึ่งบอก ‘ไปไกลๆ เลย’ อาจไม่ได้หมายความว่าจะไล่อีกฝ่ายไปจริงๆ แต่มีนัยว่าให้มาดูแลกันหน่อยแม้ไม่ต้องประชิดตัวกันก็ได้เพราะกำลังหงุดหงิด”แต่หากเราไม่ใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกก็จะพลาดความหมายตรงนี้ไป
“คนจีบกันใหม่ๆ เขาคุยกันระดับเสียงเป็นอย่างไร? มันจะกระซิบกระซาบ ที่เขากระซิบกระซาบกันเพราะอะไร? แค่กระซิบมันก็ได้ยิน แล้วจริงๆ แค่จะอ้าปากมันก็ได้ยินเสียงที่ออกมาจากใจ-จากแววตา หรือคนที่คุยกันไปเสียงดังทะเลาะกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมต้องเสียงดังขึ้น? เพราะเขารู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ได้ยินสิ่งที่จะพูด เลยต้องเสียงดังขึ้นเผื่อคนตรงหน้าจะได้ยินสิ่งที่บอก แต่ถ้าคนข้างหน้ารับฟัง พยักหน้าแล้วทวนสิ่งที่เขาพูดมาว่าอย่างนี้ใช่ไหม? เขาก็จะเบาลงเย็นลงตามธรรมชาติ เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่พูดคนข้างหน้าได้ยินแล้ว”
ดร.สรยุทธ อธิบายประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า “ไม่มีเหตุผลที่มนุษย์จะพูดซ้ำย้ำประโยคเดิมด้วยน้ำเสียงที่ดังขึ้นเมื่ออีกฝ่ายได้ยินและทวนคำพูดนั้นแล้ว”เพราะการที่ทวนคำพูดได้ก็แสดงว่าได้ยินแล้ว การพูดคุยก็จะง่ายขึ้น ทั้งนี้ การทำงานของธนาคารจิตอาสา งานเบื้องหน้าคืองานอาสา หรือการทำเรื่องความสุขของประเทศไทย สร้างเนื้อหาการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ แต่งานเบื้องหลังคือเรื่อง “สุขภาวะทางปัญญา” อธิบายง่ายๆ ก็คือความสุขที่เกิดจากการเข้าใจตนเอง เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับผู้อื่น รวมถึงกับโลกและธรรมชาติ
การฟังเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ทุกที่-ทุกเวลา แม้กระทั่งตอนนอน เพราะเมื่อเราฝึกฟังตนเองให้ดีไม่เป็น ก็จะเก็บเรื่องราวต่างๆ ไปคิดไปฝัน เมื่อตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น แต่หากฟังตนเองและผ่อนคลายให้เป็นก็จะทำให้นอนหลับได้สบาย แม้จะใช้เวลาไม่นานแต่ตื่นมาก็สดชื่นได้ โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเดือนแห่งการฟังจะมี 3 อย่าง 1.Listenian Space 2.Listenian Class และ 3.Listenian Challenge ซึ่ง Listenian หมายถึงคนที่จะมาฝึกฝนตนเอง พัฒนาศักยภาพและกลายเป็นผู้ฟังที่ดี
โดย “Listenian Space” คือพื้นที่ที่จะให้คนมามีประสบการณ์ได้ฟังการรับฟังที่ดี ซึ่งตลอดเดือนตุลาคม 2567 ธนาคารจิตอาสาได้ฝึกอบรมอาสาสมัครหลายร้อยคน รวมถึงจัดการฝึกอบรมเรื่องการฟังอยู่ทุกเดือนต่อเนื่องมา 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โรคระบาดก็จัดผ่านโปรแกรม Zoomทุกวัน ซึ่งการสร้าง Listenian นี้ก็เพื่อให้ไปจัดพื้นที่รับฟังในที่ต่างๆ ตั้งแต่พื้นที่ธรรมชาติอย่างสวนรถไฟ พื้นที่รวมกลุ่มของวัยรุ่นอย่างสามย่านมิตรทาวน์ ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ สถานปฏิบัติธรรมสวนโมกข์กรุงเทพ ฯลฯ
รวมถึงการจัดพื้นที่รับฟังแบบเฉพาะกลุ่ม เช่น พ่อแม่ที่กำลังต้องเลี้ยงลูก ผู้หญิง LGBTQ+ ทั้งกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดและผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยหวังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นว่าการมีผู้ฟังที่ดีนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไปฟังผู้อื่นก็จะได้เป็นผู้รับฟังที่ดีแบบนี้บ้าง ขณะที่ “Listenian Class” สำหรับคนที่เห็นประโยชน์ของการฟังที่ดีแต่ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน 2567 จะมีการเปิดอบรมทั้งวันธรรมดาและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สุดท้ายคือ “Listenian Challenge” เป็นการท้าทายตนเองโดยออกจากพื้นที่คุ้นชิน เช่น คนเป็นพ่อแม่ ลูกเดินกลับบ้านมาเสียงดัง ถอดรองเท้าวางไม่เรียบร้อย หากความคุ้นชินคือการโวยวายออกไป อยากให้ลองฝึกรับมือในรูปแบบอื่น หรือนั่งรับประทานอาหารกับคนอื่นๆ ที่บ้าน ปกติจะชอบเล่นโทรศัพท์มือถือไปด้วยก็ลองไม่ใช้ดู การลองใช้เวลากับคนตรงหน้าสัก 5 นาที ฟังอย่างเดียวโดยไม่ทำอย่างอื่นเลย ไปจนถึงการฟังคนที่เราไม่เห็นด้วยและอาจทำให้หัวร้อนได้ ให้เวลาสัก 5 นาที แล้วมาเล่าว่าเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น
“ผมคิดว่าการฟัง จะพูดได้ว่ามันแก้ปัญหาได้ทุกอย่างในโลกเลย เพราะหลายปัญหาในใจเรามันเกิดจากเรื่องของการฟัง แม้เป็นปัญหาที่อาจจะอยู่นอกตัวแล้วเรารู้สึกว่ามันไกลไม่ใช่เรื่องการฟังปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเรียน ปัญหาความสัมพันธ์ ทุกอย่างสามารถทำให้คลี่คลายและดีขึ้นด้วยการฟัง ก็อยากเชิญชวนให้พวกเราทุกคนได้มาลองฝึกฟัง และลองมอบของขวัญของการรับฟังให้กับตัวเราและคนที่อยู่รอบๆ ตัวเราได้” ดร.สรยุทธ ฝากทิ้งท้าย
หมายเหตุ : ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.happinessisthailand.com/หรือเพจเฟซบุ๊ก “ความสุขประเทศไทย” https://www.facebook.com/happinessisthailand/?locale=th_TH
รับขมคลิป https://www.facebook.com/share/r/fdxSLKJGbm83ANMT/?mibextid=qDwCgo
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-