‘ตรวจสอบรายชื่อเลือกตั้ง’ เว็บไซต์จริงไม่อันตรายโดยกรมการปกครอง น่าสังเกตข่าวลวงอาจแชร์ผ่านกลุ่มปิด

By : Zhang Taehun

ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้แล้วตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 อย่าตรวจนะ มันให้กรอกเลขบัตรประชาชน เดี๋ยวเขตส่งมาให้เราเอง (เว็บไซต์อันตราย)

ข้อความที่ถูกแชร์กันในหมู่ประชาชน ซึ่งทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Thailand) กระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้นำมาเปิดเผยและชี้แจงเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ระบุว่า กรณีที่มีการส่งต่อข้อความเตือนระบุว่า อย่ากรอกข้อมูลตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เนื่องจากเว็บไซต์อันตรายนั้น ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงแต่ละประเด็นว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง 

ข้อมูลเท็จดังกล่าวถูกส่งต่อกันแพร่หลายสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.- 17.00 น. เป็นวันเลือกตั้ง และกำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 โดยในส่วนของเว็บไซต์ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน www.bora.dopa.go.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

จากการตรวจสอบโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ แล้วพบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเผยแพร่โดย สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ไม่ใช่เว็บไซต์ปลอมหรือเว็บไซต์อันตรายตามที่กล่าวอ้าง โดยประชาชนสามารถใช้ตรวจสอบรายละเอียดผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ตามปกติ ทั้งนี้ โปรดตรวจสอบลิงก์ก่อนกรอกข้อมูลอีกครั้ง เพราะอาจมีมิจฉาชีพปลอมแปลงเว็บไซต์ขึ้นมาได้ โดยลิงก์เว็บไซต์จริงคือ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/ 

เช่นเดียวกับบัญชีทวิตเตอร์ “@iLawClub” ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย​ประชาชน (ไอลอว์) ก็โพสต์ข้อความชี้แจงในวันเดียวกันว่าให้ “ระวังข่าวปลอม! ที่มีการส่งต่อข้อความในไลน์/โซเชียลมีเดีย ว่าเว็บไซต์เช็คสิทธิ #เลือกตั้ง เป็นของปลอม ห้ามกรอกเลข 13 หลัก กกต. แจ้งแล้ว เข้าลิงก์นี้ เว็บจริงแน่นอน เป็นของกรมการปกครอง ไม่ใช่เว็บไซต์ปลอมหรือเว็บไซต์อันตราย เช็คสิทธิกันได้เลยhttps://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/”

การใช้งานตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2566 สามารถทำได้ง่าย โดยเมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th ในหน้าแรกให้เลือกหัวข้อ “การให้บริการ” ตามด้วยหัวข้อ “การเลือกตั้ง” และเลือกหัวข้อ “ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้ง ส.ส.” ซึ่งอยู่ในหมวด การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือจากหน้าแรกของเว็บไซต์ สามารถกดเลือก Icon หีบเลือกตั้ง โดยใต้ Icon ก็จะมีข้อความบรรยายว่า การเลือกตั้ง เมื่อกดเข้าไปแล้วก็จะเจอหมวด การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และมีหัวข้อ ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้ง ส.ส. ให้เลือกเช่นกัน โดยทั้ง 2 วิธี ระบบจะพาเข้าไปที่ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/ ซึ่งจะมีช่องให้กรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แล้วระบบจะระบุ ชื่อ-นามสกุล เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ หากไม่ใช่ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า (วันที่ 7 พ.ค. 2566)  ระบบจะแจ้งวันไปใช้สิทธิ์ เป็นวันที่ 14 พ.ค. 2566 หรือเป็นวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 

อนึ่ง ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ข้อความข่าวลวงที่ทาง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ นำมาชี้แจงนั้น อาจเป็นข้อความที่ส่งต่อกันทางแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ซึ่งเป็นแอปฯ สนทนา (Chat) ระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคน ไม่ใช่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่มีการโพสต์ข้อความเปิดเผยเป็นสาธารณะ (เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ต่างๆ) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ดังที่เคยมีการเตือนกันมาสักระยะแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอผลการศึกษาโดย ชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้แทนทีมวิจัยสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น เมื่อเดือน พ.ค. 2564 ซึ่งโคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานแถลงข่าว (ออนไลน์) “ถอดรหัสข่าวลวง: เปิดรายงานโคแฟค ที่มา ลักษณะข่าวลวงและข้อเสนอแนะ” (De-coding Disinformation: Cofact Original Report and Recommendations) กล่าวถึงข่าวลวง เช่น มะนาวโซดาฆ่าเชื้อโควิด-19 , คลิปเสียงแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชที่ระบุว่าการดื่มยาเขียวช่วยป้องกันและรักษาโรคจากไวรัสโควิด-19 ได้, ข่าวแอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์ สามารถใช้กู้ยืมเงินสดได้ เป็นต้น ซึ่งมีข้อค้นพบจากการศึกษาว่าข่าวลวงส่วนใหญ่นั้นคาดว่าแพร่กระจายกันอยู่ในกลุ่มปิด (เช่น ไลน์กลุ่ม) และมีข้อเสนอแนะว่าควรมีการหารือร่วมกับทางบริษัทไลน์สาขาประเทศไทย เพื่อหาช่องทางตรวจสอบข่าวลวงบนแพลตฟอร์มดังกล่าว ขณะเดียวก็ต้องฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการรับข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อกันในช่องทางนี้ด้วย!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-อย่ากรอกข้อมูลตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง-เนื่องจากเว็บไซต์อันตราย/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! อย่ากรอกข้อมูลตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เนื่องจากเว็บไซต์อันตราย : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ 21 เม.ย. 2566)

https://twitter.com/iLawclub/status/1649293737632358400/photo/1

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230417201557885 (กกต. แจ้งให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. สามารถตรวจสอบรายชื่อของตัวเองได้แล้ว ตั้งแต่ 18 เมษายนนี้ : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 17 เม.ย. 2566)

www.bora.dopa.go.th(สำนักบริหารหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

https://blog.cofact.org/cofact-press-may-27-21/ (งานวิจัยพบ‘ข่าวลวง’เสี่ยงระบาดหนักใน‘กลุ่มปิด’ แนะแพลตฟอร์มหาวิธีแก้ไข-สร้างอาสาฯร่วมตรวจสอบ : Cofact 27 พ.ค. 2564)