ถอดบทเรียนจาก‘ฟิลิปปินส์’ถึง‘ไทย’ ‘ข้อมูลบิดเบือน-ปฏิบัติการข่าวสาร’ปัจจัยเสี่ยงการเลือกตั้ง

10 ก.พ. 2566 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (ประเทศไทย) จัดประชุมเรื่อง “เจาะ (อิทธิพล) ปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ (Online Manipulation) กับผลการเลือกตั้ง : บทเรียนจากฟิลิปปินส์สู่ไทย” ณ โรงแรมโอเรียนทัล เรสซิเดนซ์ ถ.วิทยุ กรุงเทพฯ

โมริทช์ ไคลเนอ-บรอคฮอฟฟ์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ (FNF) กล่าวว่า ตนนั้นอายุ 68 ปีแล้ว เติบโตมาในเยอรมนียุคทศวรรษ 1970-1980 (ปี 2513-2532) สื่อมวลชนหลักในยุคนั้น คือวิทยุ-โทรทัศน์ และข้อมูลข่าวสารที่มาจากภาครัฐ ซึ่งความสำคัญของสื่อในช่วงเวลานั้นคือข้อมูลต้องเชื่อถือได้ แต่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และตัวเราต้องตัดสินใจว่าจะเชื่อในข้อมูลที่ได้รับเหล่านั้นหรือไม่ เพราะมีข่าวลวง (Fake News) อยู่มากมายเต็มไปหมด

แต่ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน การแข่งขันนั้นมีทุกยุคทั้งนักการเมืองหรือบริษัท หรือแม้แต่มูลนิธิ ซึ่งไม่ว่าองค์กรแบบใด หากโกหกแล้วถูกจับได้ความน่าเชื่อถือจะดิ่งลงเหวไปและยากมากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาได้ แต่ข้อสังเกตคือยุคปัจจุบันการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารปลอมหรือบิดเบือนนั้นมียุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การทำผิดพลาดแบบครั้งต่อครั้ง อย่างเช่นเรื่องของโดนัลด์ ทรัมป์ (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) ในการเลือกตั้งที่สหรัฐฯ หรือเรื่องอื่นๆ เป็นทราบกันดีว่ามีการสร้างเรื่องราวขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้องแต่ก็ใช้การอย่างได้ผล

“การทำหัวข้อรณรงค์ที่เป็น Misinformation (ข้อมูลคลาดเคลื่อน) อย่างเป็นระบบ กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคมไปแล้ว ซึ่งผมรู้สึกตกใจมาก เพราะเราอยู่กันตรงนี้เพื่อดูบทเรียนจากฟิลิปปินส์ และผมคิดว่าเราสามารถจะทำอะไรในการต่อต้านปฏิบัติการข้อมูลบิดเบือนในออนไลน์ได้บ้าง ประเทศไทยก็จะมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ แล้วฟิลิปปินส์เพิ่งมีการเลือกตั้งไปเมื่อไม่นานนี้ช่นเดียวกัน” ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ กล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในบางครั้งมีความซับซ้อนระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น ซึ่งเราต้องแยกให้ได้ระหว่างข้อเท็จจริงกับสิ่งต่างๆ ที่แทรกเข้ามาในการเมือง ดังนั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน ทุกคนควรอยู่บนแพลตฟอร์มที่เปิดเผย ปลอดภัยและสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ และยินดีที่จะได้รายงานว่าสิ่งนี้เป็นข้อมูลที่ตรวจสอบแล้ว นี่คือสิ่งที่โคแฟคต้องการทำ 

ตัวอย่างจากเมื่อเร็วๆ นี้ ตนเพิ่งไปประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ได้พบคนรุ่นใหม่จากฟิลิปปินส์ซึ่งมาจากพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมก้าวหน้า ได้เรียนรู้เรื่องข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) จำนวนมาก แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เพราะบางครั้งผู้คนก็ไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงแต่เลือกเชื่อในสิ่งที่ตนเองต้องการเชื่อ สำหรับโคแฟคความจริงสำคัญที่สุด แต่ในแง่การเมืองหลายคนก็บอกว่าข้อเท็จจริงไม่สำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลต่างๆ ที่โยนเข้าไปในโลกออนไลน์

เราคิดว่าข้อเท็จจริงเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และแน่นอนสันติภาพ เพราะเราต้องการเห็นเรื่องของหลักนิติธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมีการนำมาใช้ในเวทีเลือกตั้งในครั้งนี้ แน่นอนมันไม่ง่าย มันมีข้อมูลท่วมเราเหมือนกับทะเล แล้วก็เห็นข้อมูลอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้ง มีการปั่นให้เกิดขึ้นทางออนไลน์ด้วยบางครั้ง อันนี้เราก็ดูว่าทางผู้ที่ต้องดูแลจะต้องทำอย่างไร ทั้งความเท็จรวมทั้งปฏิบัติืการทางออนไลน์ด้วย เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรอวจสอบ สุภิญญา กล่าว

จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ 2022 จากมุมมองสื่อสารมวลชน” โดยมีวิทยากรจากประเทศฟิลิปปินส์ 2 ท่าน ซึ่ง ผศ.คลิฟ วี.อาร์เกวยเยส ภาควิชารัฐศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เดอ ลา ซาลล์ เปิดประเด็นด้วยคำถาม “ทำไมต้องตอบโต้ข้อมูลบิดเบือน?” ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนแตกต่างจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จด้วยความเข้าใจผิด ตรงที่ “ข้อมูลบิดเบือนเกิดขึ้นจากความตั้งใจ” มีจุดประสงค์ในการสร้างผลเสียต่อบุคคล ชุมชนหรือสังคมทั้งหมด 

ข้อมูลบิดเบือนทำให้เกิดความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมือง เกิดความเกลียดชัง เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มศาสนาที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น การทำร้ายชาวโรฮิงญาในเมียนมา หรืออาจดึงความสนใจจากสาธารณชนออกไป อย่างในฟิลิปปินส์ที่มีการเลือกตั้งมาแล้วก็มีการใช้ข้อมูลบิดเบือนมากมายซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจใช้สิทธิ์ออกเสียงของเรา ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่าข้อมูลบิดเบือนบั่นทอนความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง เช่น มีการกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้งทั้งที่ไม่มีข้อพิสูจน์ อย่างในสหรัฐฯ ก็นำไปสู่การประท้วงอย่างรุนแรง

ข้อมูลบิดเบือนยังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนในสายตาประชาชน ไม่ว่าสื่อนั้นจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนก็ตาม ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการตอบโต้ข้อมูลบิดเบือน ทั้งนี้ ข้อมูลบิดเบือนแบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ 1.แบบหยาบ (Crude) ข้อมูลไม่ซับซ้อน ไม่ค่อยใช้เทคโนโลยี ออกแนวความเห็นป่วนๆ (Troll) มากกว่า กับ 2.แบบซับซ้อน (Sophisticate) มีการใช้เทคโนโลยี หรือใช้กลวิธีประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้เกิดเป็นกระแส (Viral) ได้จริง เช่น Deep Fake (เทตคโนโลยีปลอมแปลงภาพ-เสียงของบุคคลอื่น)

คำถามต่อมา จะต่อต้านข้อมูลบิดเบือนได้อย่างไร? ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าในแต่ละสังคมหรือแต่ละประเทศมีข้อมูลบิดเบือนที่แตกต่างกัน อย่างแรกจึงต้องดูลักษณะการบิดเบือน ต่อมาต้องมีผู้เฝ้าระวังทางสังคม (Watchdog) อยู่ แต่จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับระบบที่มีในประเทศนั้นๆ เช่น กฎเกณฑ์ของรัฐระบุการดำเนินการไว้อย่างไร หรือความแตกต่างของแต่ละสื่อและการเผยแพร่ในแต่ละแพลตฟอร์ม สุดท้ายคือบทบาทของภาคประชาสังคมและภาคเอกชนในการมีส่วนร่วม ซึ่งอย่างหลังนี้เองเป็นตัวแบบ (Model) ที่ปกป้องเสรีภาพได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ข้อมูลบิดเบือนอาจเกิดขึ้นโดยฝ่ายรัฐหรือฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐก็ได้ ผ่านการใช้สื่อที่เป็นเชิงพาณิชย์เข้าไปเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเป็นกลวิธีแบบ Sophisticate อย่างหนึ่ง เพราะใช้กลไกความเสรีของสื่อ ใช้ความสร้างสรรค์สูงในการทำข้อมูลปั่นกระแส ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าสื่อต่างๆ จะมีการตรวจสอบแค่ไหน และต้องพิจารณาความหลากหลายของสื่อเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการข้อมูลบิดเบือน 

ส่วนการที่รัฐจะออกระเบียบมาควบคุมข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นอันตรายเพราะสื่อจะรู้สึกว่าถูกควบคุม และการที่รัฐไม่สามารถขยายอำนาจการควบคุมไปถึงสื่ออินเตอร์เน็ต ก็เท่ากับรัฐไม่สามารถควบคุมกระแสทางออนไลน์ได้ อนึ่ง รัฐเองอาจมีทางเลือกน้อยสำหรับการเข้าถึงและกระจายสื่อที่เป็นข้อเท็จจริง ในขณะที่ภาคประชาสังคมอาจทำได้ดีกว่าในการต่อต้านข้อมูลบิดเบือน แต่ก็้ต้องยอมรับว่าหากเป็นข้อมูลที่ซับซ้อนก็เป็นเรื่องยากในการจัดการ เรื่องนี้จึงเหมือนแมวไล่จับหนู หมายถึงการต้องคอยดูว่าจะจัดการอย่างไร

ในการเข้าใจว่ามันมีการผลิต Disinformation อันนี้มาจากการศึกษาการจัดเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2562 ล่าสุดคือ 2565 มันกลายเป็นสิ่งที่เป็น Mainstream (กระแสหลัก) เป็นส่วนหนึ่งของการทำยุทธศาสตร์การเลือกตั้งทั่วไปในฟิลิปปินส์แล้ว ถือเป็น Content (เนื้อหา) หนึ่งเลยทีเดียว แล้วมันมีแต่ละขั้นตอนในการทำข้อมูลบิดเบือนเหล่านี้ แต่ละคนก็จะมีบทบาทที่แตกต่างกันไป จุดที่มันเป็นยุทธศาสตร์บนๆ เรื่องของการโฆษณา ก็จะเป็นคนระดับสูงๆ จะบอกแบบว่าตัว Disinformation Content (เนื้อหาบิดเบือน) จะเป็นอย่างไร จะมีประสิทธิภาพได้แบบไหนบ้าง

เสร็จแล้วก็ส่งมาในทีมที่เป็น Production (ฝ่ายผลิต) เป็นมือโปรในทำ PR (ประชาสัมพันธ์) ทำแผนยุทธศาสตร์การโฆษณาต่างๆ ทำมีม รูป Infographic ต่างๆ ที่เขาทำบิดเบือนขึ้นมา จากนั้นส่งต่อมาที่ทีมเทคนิค พวกนี้เป็น Social Media Manager (ผู้จัดการสื่อสังคมออนไลน์) เป็นบริษัทเทคโนโลยี แล้วถ้าเรามาดูวิถีนี้ แนวทางนี้ก็จะเห็นได้เลยว่าแต่ละขั้นตอนของการผลิตทั้งหมดจำเป็นจะต้องมีมาตรการในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ผศ.คลิฟ ระบุ

ผศ.คลิฟ ยังกล่าวอีกว่า ยกตัวอย่าง หากทำงานกับองค์กรที่ควบคุมการติดตามผลการเลือกตั้ง เช่น ในประเทศไทยคือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อตรวจสอบการออกแบบหัวข้อรณรงค์หาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ อาทิ มีการรายงานว่างบประมาณที่ใช้จัดทำมาจากแหล่งใด ก็จะมีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์การผลิตข้อมูลบิดเบือนด้วยเช่นกัน

ด้าน รศ.อีวอน ชัว วิทยาลัยสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ในฟิลิปปินส์มีข้อมูลบิดเบือน หรือ Disinformation จำนวนมาก โดย 9 ใน 10 ของชาวฟิลิปปินส์มีประสบการณ์ได้รับข้อมูลบิดเบือนโดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งในฟิลิปปินส์มีเว็บไซต์ tsek.ph ซึ่ง Tsek คือการเขียนคำว่า Check ในภาษาฟิลิปปินส์ เกิดขึ้นจากการสร้างความร่วมมือเกิดเป็นเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง เปิดตัวครั้งแรกในปี 2562 ภาคีเครือข่ายนอกจากสื่อแล้วยังมีภาควิชาการ จากนั้นในปี 2563 มีการดึงภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของสื่อในฟิลิปปินส์มีการแข่งขันกันจึงไม่ต้องการให้สื่อใดเป็นผู้นำ จึงต้องอาศัยภาควิชาการเพราะต้องการคนที่เป็นกลาง แต่การทำงานในรูปแบบภาคีไม่อาจบังคับหรือกำหนดให้ใครทำอะไรได้ ต้องเป็นข้อเสนอเข้ามา แต่จะมีการตกลงเรื่องการให้แชร์ข้อมูลที่ตรวจสอบเพื่อนำไปกระจายในอุตสาหกรรมสื่อ เช่น ให้เผยแพร่ได้เพียงกี่ย่อหน้า แต่เท่านั้นก็เพียงพอแล้วในการนำไปใช้ต่อต้านข้อมูลบิดเบือน 

มีการทำข้อตกลงอย่างละเอียดร่วมกันแล้วว่าอะไรทำได้แค่ไหน รวมถึงยังต้องมีฝ่ายกฎหมายเพื่อดูแลหากเกิดการฟ้องร้องขึ้น ส่วนมาตรฐานการตรวจสอบข้อมูลก็ยึดตามแนวทางของ International Fact Checking Network (IFCN) มีการตกลงระบบการให้เรตติ้ง (จริง ปลอม บิดเบือน ฯลฯ) ในภาคีเครือข่ายเป็น 5 ระดับ สำหรับใช้ในฐานข้อมูลกลาง โดยมีบรรณาธิการของภาคีเครือข่ายเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนการใส่ข้อมูลลงในฐานข้อมูลก็ฝากทางมหาวิทยาลัยดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาคนทำงานสื่อที่ไม่มีเวลา

มีการประชุมจัดทำหลักสูตร ใช้เวลา 6 เดือนเพื่อให้ได้หลักสูตรอบรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร แบบเป็นหลักสูตรเร่งรัด 1 วัน รวมไปถึงจัดหลักสูตร 1 เทอม ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วย ทำให้บางครั้งจะพบว่านักศึกษามีความรู้เรื่องนี้มากกว่าคนทำงานสื่อ แม้จะทำไม่สำเร็จตามเป้าทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความรู้เรื่องข้อมูลบิดเบือนหรือข่าวลวง

กระทั่งในปี 2565 ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ครั้งนี้คณะทำงาน tsek.ph มีความเข้าใจแล้วและมีแนวทางอยู่จึงทำเพียงส่งคำเชิญภาคีเครือข่ายเท่านั้น ที่สำคัญครั้งนี้ยังมีภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกิดขึ้นมาอีก มีสื่อหลายสำนักที่มาเข้าร่วม รวมถึงภาควิชาการที่ในแต่ละ 1 มหาวิทยาลัยอาจมีหลายโครงการก็ได้ มีอาสาสมัครสังเกตการเลือกตั้งที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา มีการฝึกอบรมที่ขยายจากทักษะการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเพิ่มการทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณ และมีความปลอดภัยทั้งทางกาย กฎหมาย รวมถึงทางจิตใจ

การปล่อยข่าวลวงข่าวปลอมมีมาเป็นสิบๆ ปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องตระหนักยึดไว้เสมอก็คือว่า ถ้าพวกเขาใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีกว่าจะสร้างข้อมูลปลอมพวกนี้ได้ เราไม่สามารถถล่มมันได้ภายในคืนเดียว สิ่งที่สำคัญมากคือต้องอย่าล้มเลิกความหวัง แม้กระทั่งการเลือกตั้งจะจบลงไปแล้ว ถึงคุณคิดว่าความพยายามของคุณไม่เกิดดอกออกผลอะไรเลย ไม่ใช่! แต่ถามตัวคุณเองว่าเราจะทำอะไรได้อีกในการเผชิญกับศัตรูที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ในเรื่องที่เราเรียกว่าข้อมูลบิดเบือนรศ.อีวอน กล่าว

รศ.อีวอน ยังกล่าวถึงความท้าทายในสังคมฟิลิปปินส์ เนื่องจากข้อมูลบิดเบือนมาทางคลิปวีดีโอมากกว่าตัวหนังสือ ซึ่งก็มีทั้งคลิปยาวบ้าง-สั้นบ้าง และไม่รู้ว่าแทรกข่าวลวงไว้ตรงไหน คนทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงต้องมีทักษะในการตรวจสอบข้อมูลในแพลตฟอร์มดังกล่าวด้วย เคยมีการทำคลิปวิดีโอตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายในเวลาไม่กี่วันมียอดคนดูถึง 7 หมื่น ชี้ให้เห็นว่าเป็นสื่อที่ดึงดูดมาก จึงต้องลงทุนเล่าเรื่องและจี้ลงไปว่าอะไรที่บิดเบือน

สุดท้ายคือเรื่องของการดึงสื่อสำนักต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งอาจจะมีทั้งสื่อที่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ซ้าย-ขวา หรือชอบ-ไม่ชอบรัฐบาล เรื่องนี้ก็เหมือนกับการแต่งงานที่ไม่สามารถบังคับใครได้ ดังนั้นสื่อที่ไม่พอใจกรอบข้อตกลงก็จะไม่เข้ามาร่วม จึงต้องยอมรับว่าไม่สามารถดึงสื่อมาเข้าร่วมได้ทุกสำนัก แต่หากสมมติ เช่น มีสื่อ 30 สำนัก ดึงมาเข้าร่วมได้ 14 สำนัก ก็ถือว่าดีแล้ว และตนอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะเป็นการสร้างสมรรถนะของแต่ละภาคส่วนสำหรับข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เพื่อปกป้องข้อมูลที่ถูกต้อง

จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อ “เราพลาดตรงไหน-อะไรที่ไม่ได้ทำ-ต้องทำอย่างไร เพื่อให้การหาเสียงเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และสร้างภูมิคุ้มกันต่อปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์” โดยมีวิทยากร 3 ท่าน เริ่มจาก เจสัน อาร์ กอนซาเลซ ผู้อำนวยการพรรคเสรีนิยม ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ข้อมูลบิดเบือนเป็นภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดต่อประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ และการกลับมายิ่งใหญ่ของตระกูลมาร์กอสหลังจากที่ต้องอับอายหลบหนีไปนานก็เพราะมาจากการทำข้อมูลลักษณะนี้

รายงานการศึกษาเรื่อง “Fake News and internet propaganda , and the Philippine elections : 2022 พบว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (Youtube) และติ๊ี๊กต๊อก (TikTok) คือแพลตฟอร์มออนไลน์ 3 อันดับแรกที่พบข้อมูลบิดเบือนในฟิลิปปินส์ พบผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลเหล่านี้ถึง 67 ล้านครั้ง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทัศนคติของคนฟิลิปปินส์จำนวนมาก มองว่าอะไรที่ตนเองไม่เห็นด้วยคือข่าวลวง (Fake News) ทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่น่าห่วง

ในปี 2561 มีงานวิจัยชื่อ “This is what a paid operation looks like.” ว่าด้วยกระบวนการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจุดเริ่มต้นก็มาจากลูกค้าที่เป็นนักการเมือง มีการกำหนดหัวข้อรณรงค์ ข้อความที่ต้องการสื่อออกไป ก่อนแปรรูปเป็นเนื้อหาสำหรับเผยแพร่โดย อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)” หรือบุคคลที่เก่งในการผลิตเนื้อหาบนโลกออนไลน์และมีชื่อเสียงมีผู้คนให้ความสนใจติดตามมาก สุดท้ายถูกทำให้แพร่กระจายโดยบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำปลอมขึ้น กระบวนการนี้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การดำเนินการเกิดขึ้นในบ้านซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัท

ในปี 2565 ยังมีการศึกษาหัวข้อ “Parallel Public Spheres : Influence Operations in the 2022 Philippine Elections” พบกระบวนการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในบทบาทที่หลากหลาย เช่น บางคนถูกวางตัวให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีการใช้ชาวต่างชาติที่อาศัยในฟิลิปปินส์ที่หน้าตาดีมาดึงดูดความสนใจ เป็นต้น อนึ่ง พฤติกรรมของผู้รับสารที่ชอบอะไรสั้นๆ ก็มีผลต่อการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน กล่าวคือ ผูุ้้รับสารจะอ่านเพียงพาดหัวข่าวแต่ไม่ได้สนใจเนื้อหาภายในข่าว แล้วก็มาอ่านเฉพาะความเห็นที่มีผู้โพสต์ถึงเนื้อหานั้น

“Influence Operations (ปฏิบัติการสร้างอิทธิพล) ถือเป็นกรอบใหญ่ในการที่จะระบุบุคลิกลักษณะ ตัวแพลตฟอร์ม แล้วก็แนวปฏิบัติที่จะสามารถยึดเอาความเห็น เอาความสนใจของสาธารณะได้ แล้วก็มีการขับเคลื่อนความคิดเห็น แล้วมีผลต่อผลลัพธ์ของการเลือกตั้งได้ด้วย พูดง่ายๆ คุณจะจัดการกับการใส่ร้ายป้ายสีได้อย่างไร กับการเปรียบเทียบไปเป็นพิน็อกคิโอ (ตัวละครในนิทาน) เฉยๆ ลอยๆ ขึ้นมา 

ตัว Influence Operations สามารถที่จะใช้ข้อมูล Disinformation ได้อย่างยาวนาน พูดง่ายๆ มันมีอันตรายมากในช่วงการเลือกตั้ง แต่เมล็ดพันธุ์ของมันถูกเพาะไว้ก่อนหน้านี้นานมากแล้ว มันต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะให้เติบโตในหัวของคน แล้วมันเติบโตทั้งปริมาณด้วย บ่อยครั้งเราจะเห็นหลายแพลตฟอร์ม แล้วก็มีอินฟลูเอนเซอร์มากมาย หรือมีคนหยิบยกข้อความเดียวกันมาย้ำๆ นั่นคือวิธีที่คุณเปลี่ยนคำโกหกให้กลายเป็นความจริง” เจสัน กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยหัวหน้าโครงการ Monitoring Center on Organized Violence Events (MOVE) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า เริ่มสนใจ ไอโอ (IO-Operation Information) หรือการทำ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร บนโลกออนไลน์เมื่อ 5 ปีก่อน โดยเฝ้าสังเกตการณ์ไอโอทั้งที่ถูกจัดตั้งและไม่ถูกจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม ในบริบทสังคมตะวันตกที่การเมืองเป็นแบบเปิด จึงเปราะบางต่อการแทรกแซงของข้อมูลข่าวสาร การถกเถียง (Debate) เกี่ยวกับไอโอในสังคมแบบนี้ จึงว่าด้วยผลกระทบด้านความเป็นปึกแผ่นของสังคม

เช่น จะมีการแบ่งขั้ว-แยกข้าง หรือมีความคิดสุดโต่งเกิดขึ้นในสังคมเพียงใด ซึ่งทำให้ความเป็นประชาธิปไตยในสังคมเสื่อมลง ซึ่งฟิลิปปินส์นั้นก็มีการเมืองแบบเปิด ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจึงเป็นแบบกระจาย ดังนั้นจึงไม่อาจนำกรณีของประเทศไทยไปเทียบเคียงได้ เพราะไทยนั้นมีบรรยากาศของข้อมูลข่าวสารที่ถูกควบคุม ดังนั้นสำหรับไทยนอกจากข้อมูลข่าวสารจะถูกควบคุมแล้วยังมีการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งบรรยากาศแบบนี้อำนาจมีความไม่เท่ากันอยู่ อาทิ ทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้ทำไอโอของพรรคการเมืองแต่ละฝั่งไม่เท่ากัน

หรืออาจกล่าวได้ว่า ภายใต้บรรยากาศที่อำนาจไม่เท่ากัน ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจะถูกใช้เพื่อรักษาฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า มีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น อินเดีย ที่พรรครัฐบาลคือ BJP สามารถกดดันแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ไม่ให้จัดการกับถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ที่มาจากพรรค BJP ได้ ส่วนในบริบทประเทศไทย มีทั้งการใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาบางอย่าง การจับกุมดำเนินคดี ไปจนถึงการใช้สปายแวร์ (Spyware) สอดส่องตัวละครทางการเมือง ไม่ใช่แค่นักเคลื่อนไหวแต่รวมถึงนักการเมืองด้วย

ทั้งนี้ การทำสงครามข้อมูลข่าวสาร (Information Warfare) เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ในบริบทการเลือกตั้ง หรือในสังคมที่ขัดแย้งกัน แต่การทำสงครามข้อมูลข่าวสารที่อันตราย คือในบริบทที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่าย เพราะจะนำมาซึ่งวิธีการต่างๆ เช่น กระจายข้อมูลที่เป็นการทำลายชื่อเสียง ตั้งคำถามถึงศีลธรรมหรืออารมณ์ความรู้สึกของบุคคลซึ่งผู้ถูกกระทำจะกลายเป็นที่รังเกียจของสังคม และเป็นการสร้างฉากต่อไปคือการดำเนินคดี แต่ข้อค้นพบนี้จะเกิดขึ้นในบริบทของไทยหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป

สมมติว่าเราเอาบรรยากาศการเลือกตั้งเข้ามาวางในท่อวิเคราะห์ของดิฉัน คำถามต่อไปคือมันจะเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลข่าวสาร ขณะเดียวกันก็เกิดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและบรรยากาศการควบคุมครรลองของการเลือกตั้ง ฉะนั้นสิ่งที่เราจะเห็นก็คือการผสมกันของ หนึ่ง..การดำเนินคดีของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ต่อผู้โพสต์ข้อความ ต่อผู้แชร์ข้อมูลที่อาจจะไม่ตรงหรือว่าผิดกติกา ตามที่ กกต. เห็น และการแชร์ข้อมูลเหล่านี้หลายครั้งเป็นข้อมูลที่มาจากกลไกการตรวจสอบการเลือกตั้งที่ไม่ใช่มาจากหน่วยงานของราชการ

คำถามก็คือการแชร์ข้อมูลเหล่านี้ที่โดนดำเนินคดี โดยกลไกการตรวจสอบการเลือกตั้งอื่นๆ มันจะส่งผลต่อความสามารถในการตรวจสอบการเลือกตั้งของภาคประชาสังคมหรือไม่ ประเด็นถัดมาก็คืองานวิจัยที่ทำอยู่และกำลังจะดำเนินต่อไป พบว่าการตรวจตราสอดส่องมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันทำให้ผู้ที่ตรวจตราสอดส่องตัวละครทางการเมืองทั้งหลายมีข้อมูลมากพอ นอกจากจะชี้ว่าใครทำผิดกฎหมายอะไรในโลกออนไลน์บ้างแล้ว สามารถ Craft (ประดิษฐ์) สามารถออกแบบข้อความที่ใช้ในการโจมตีตัวละครทางการเมืองได้ด้วย ผศ.ดร.จันจิรา กล่าว

ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปรียบเทียบไทยกับฟิลิปปินส์ในประเด็น ตระกูลการเมือง กล่าวคือ หากรุ่นลูกถูกเสนอชื่อเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งสำคัญอย่างประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประวัติของรุ่นพ่อจะถูกขุดคุ้ยมาบอกเล่า เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกเล่าแบบใด หากเป็นฝ่ายที่ชอบรุ่นพ่อก็จะเล่าในแง่บวก แต่หากเป็นฝ่ายที่ไม่ชอบก็จะเล่าในแง่ลบ และจะมีทั้งการขุดข้อมูลเก่ามาฉายซ้ำและการตีความข้อมูลนั้นใหม่

ส่วนการทำสงครามข้อมูลข่าวสารระหว่างฝ่ายต่างๆ นั้นจะมีทั้งกลุ่มจัดตั้งและกลุ่มที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งสถภาวะแบบนี้ก็จะผลิตข้อมูลมาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกันตลอดเวลา นอกจากนั้น ในทุกวันเราทุกคนผลิตข้อมูลกันตลอดเวลา บางอย่างเป็นข้อเท็จจริงแต่บางอย่างก็เป็นความคิดเห็น หรือบางอย่างก็เป็นบทวิเคราะห์ที่วิเคราะห์จากอะไรก็ไม่รู้ คำถามคือเราจะตรวจสอบกันไหวหรือไม่หรือจะปล่อยให้แต่ละคนเลือกเชื่อและเลือกวิเคราะห์กันเอง

ช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสาร ที่มันน่าสนใจก็ตรงที่ว่า เราสังเกตดีๆ ช่องทางที่กังวลเยอะๆ เช่น Social Media มันเริ่มมีสัดส่วนคนที่รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการเมืองการเลือกตั้งช่องทางนี้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาในอดีต ส่วนสื่อ Traditional (ดั้งเดิม) วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อะไรนี่ตกไปเลย แต่ที่น่าสนใจคือช่องทางรับข้อมูลที่มันมาจากช่องทางธรรมชาติ มันยังเป็นช่องทางที่คนจำนวนไม่น้อยเขารับอยู่

โดยเฉพาะการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร-พรรคการเมือง โดยเฉพาะคำบอกเล่าของคนที่รู้จักคุ้นเคยกัน อันนี้เป็นช่องทางที่เขารับข้อมูลข่าวสาร คืออะไรที่มันมาจากช่องทางที่มันเป็นทางการมันก็ยังมีการคัดกรอง มีการเช็คกันได้ หรือ Social Media อินเตอร์เน็ต มันก็ยังมีระบบเข้าไปช่วยได้ แต่ที่มาจากตัวต่อตัวจากนักการเมือง เวลาเขาพูดถึงตัวเองเขาก็ต้องพูดในทางที่ดี ส่วนพูดถึงคู่แข่งก็ต้องพูดทางที่ร้าย การพูดคุยกันเองระหว่างผู้คน ก็ตั้งเป็นประเด็นไว้ว่าเราจะเช็คกันไหวหรือ” ดร.สติธร กล่าว 

ในตอนท้าย ดร.ไมเคิล วาติกิโอดิส ที่ปรึกษาอาวุโส Centre for Humanitarian Dialogue (HD) เป็นผู้กล่าวปิดงาน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยคิดว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของเงิน แต่วันนี้เห็นได้ชัดและต้องขยับจากเงินมาเป็นข้อมูล และการเล่าเรื่อง (Narrative) เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการทำให้เกิดการเสวนา (Dialogue) ก็ต้องมาจากการเล่าเรื่องที่ดี ทั้งนี้ ในบริบทประเทศไทย ตนคิดว่าสิ่งที่จะช่วยได้จริงๆ ในการตอบโต้ข้อมูลเหล่านี้คือการนึกถึงอดีตที่ผ่านมา เพราะจะเป็นหนทางในการเอาชนะข้อมูลบิดเบือน เพราะการมีเรื่องเล่าส่งผลต่อการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากฟิลิปปินส์คือถ้าคนอ่านประวัติของยุคมาร์กอสจริงๆ เขาก็จะสามารถทำการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงออกไปตอนลงคะแนนเสียงแน่นอน เพราะมันมีประวัติอยู่แล้ว และผมก็คิดถึงความสำคัญมากๆ ในตอนนี้ ในการพูดถึงประวัติศาสตร์ออกไป แล้วก็เปลี่ยนให้มันเป็นกระบวนการ สำหรับผมคิดว่ามันมีประโยชน์มากสำหรับพรรคการเมือง สำหรับภาคประชาสังคมต่างๆ ในประเทศไทย ในการสร้างการหารือ ทำความคุ้นเคยกับคนที่มาลงคะแนนเสียงในยุคใหม่ๆ หรือว่าเด็ก-เยาวชน ให้เข้าใจอดีตที่เกิดขึ้น ดร.ไมเคิล ฝากทิ้งท้าย

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อกตั้ง