เงินกู้ออนไลน์’ความหวังยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ตรวจสอบอย่างไรไม่เป็นเหยื่อ‘มิจฉาชีพ’

Editors’ Picks

โดย Windwalk_Jupiter


เกือบกลายเป็น “เหตุสลดรับเปิดเทอม” เสียแล้ว เมื่อตำรวจ สภ.ปากเกร็ด รับแจ้งเหตุหญิงสาวพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากสะพานลอย บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ เมเจอร์ฮอลลีวูด ปากเกร็ด ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เหตุเกิดเวลาสี่ทุ่มเศษโดยประมาณของคืนวันที่ 12 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา แต่โชคยังดี เมื่อตำรวจพร้อมด้วยอาสากู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจนหญิงสาวรายนี้ใจเย็นลงและลงมาจากสะพานลอยในที่สุด



สำหรับแรงจูงใจในความพยายามฆ่าตัวตายครั้งนี้ เจ้าตัวเล่าว่า ไปติดต่อกู้เงินจากบริษัทแห่งหนึ่งที่หามาจากทางอินเตอร์เน็ตจำนวน 150,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท) โดยทางบริษัทแจ้งว่าจะต้องโอนเงินจำนวน 8,000 บาทเพื่อเป็นค่ามัดจำในการทำเรื่องตนจึงตัดสินใจขับขี่รถ จยย.มาจากคลองเตย โดยมากับแฟนคนละคันเพื่อนำรถ จยย.ที่ตนขับมานั้นมาจำนำกับชายคนหนึ่งที่รับจำนำรถ โดยนัดกันที่ห้างแห่งหนึ่งบนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีการตกลงรับจำนำกันที่ 15,000 บาทมีการหักค่าใช้จ่ายดำเนินการไปประมาณ 3,000 เศษ ตนได้เงินสดกลับมา 11,200 บาท


หลังจากนั้นตนจึงนำเงิน 8,000 บาทโอนไปยังบริษัทที่นัดทำเรื่องกู้ไว้โดยบัญชีดังกล่าวเป็นชื่อบุคคล ไม่ใช่นามบริษัท หลังจากนั้นทางบริษัทได้ส่งแบบฟอร์มมาให้ตนกรอกแต่ตนกรอกหมายเลข 0 ของบัตรประชาชนเกินไป 1 ตัวระบบเลยล็อก ทางบริษัทแจ้งกลับมาว่าไม่สามารถดำเนินการต่อได้จะต้องโอนเงินอีกจำนวน 15,000 บาทเพื่อไปปลดล็อกระบบ AI ถึงจะสามารถทำเรื่องกู้ต่อได้ ซึ่งตนไม่มีเงินแล้วจึงหมดหนทาง


อีกทั้งยังมีปากเสียงทะเลาะกับแฟนอีกทำให้แฟนปล่อยตนทิ้งไว้ตรงนี้ก่อนที่จะขับรถออกไป ทำให้ตนเครียดหาทางออกไม่ได้จึงจะกระโดดสะพานลอย ทั้งนี้ สาเหตุที่จำเป็นต้องตัดสินใจกู้เงิน เพราะวันหนึ่งจะนำเงินมาลงทุนค้าขาย พร้อมกับจะไปนำรถ จยย.ที่ไปจำนำไว้ออกมา อีกส่วนจะไปซื้อชุดนักเรียนให้น้องที่กำลังจะเปิดเทอม โดยเบื้องต้นตำรวจได้พาหญิงสาวรายได้ ไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ปากเกร็ด ไว้ก่อน


ด้านหนึ่งแม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะจบลงได้โดยไม่เกิดเหตุสลดขึ้น แต่สิ่งที่หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องควรติดตามสืบสวนกันต่อไปคือ “บริษัทปล่อยเงินกู้ที่ผู้ (เกือบ) ฆ่าตัวตาย อ้างว่าได้ข้อมูลมาจากอินเตอร์แน็ตและพยายายามจะไปกู้เงิน เป็นบริษัทปล่อยเงินกู้จริงหรือไม่? หรือเป็นมิจฉาชีพกันแน่?” เนื่องจากก่อนหน้านี้ เคยมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้น ถึงขนาดที่มีการเตือนกันมาแล้วไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อ



ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกตัวอย่างหนึ่งขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ กรณีที่ปรากฎในสื่อออนไลน์ กรณีที่หญิงสาวรายหนึ่ง ผูกคอตายหลังถูกมิจจฉาชีพหลอกให้โอนเงินจนหมดตัวเนื่องจากต้องการกู้เงินผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ จำนวนเงิน 100,000 บาท โดยแม่ผู้ตายเล่าว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการหลอกให้โอนเงิน เพื่อทดสอบว่าผู้ยืมจะสามารถโอนเงินคืนได้ตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งทางผู้ตายก็ได้มีการโอนเงินไปทั้งหมด 10 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ยอดรวม 38,200 บาท


จึงฝากเตือนประชาชนว่า 1.หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน แนะนำให้กู้ผ่านธนาคาร แอปพลิเคชันที่เป็นทางการของธนาคาร หรือช่องทางที่หน้าเชื่อถือเท่านั้น พร้อมทั้งตรวจสอบเสมอหากกู้ผ่านแอปพลิเคชั่น เพราะมิจฉาชีพมักสร้างแอปพลิเคชั่นปลอมที่มีชื่อคล้ายกับธนาคารมาหลอกลวง 2.หากผิดพลาดไปแล้วให้รีบเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งขอคำปรึกษาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 3.ควรหาข้อมูล อ่านคำอธิบายรายละเอียดของแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นดังกล่าวให้ถี่ถ้วนก่อนทุกครั้ง ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด



4.ควรตรวจสอบข้อมูลของนักพัฒนาแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชั่นดังกล่าว รวมถึงรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้ง ว่าเคยมีประวัติหรือมีการรีวิวในด้านที่ไม่ดีหรือไม่ 5.ควรดูจำนวนผู้ดาวน์โหลด หรือใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันดังกล่าวว่ามีผู้ใช้งานมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบการตัดสินใจ และ 6.ไม่ควรหลงเชื่อการชักชวนในรูปแบบ ลงทุนน้อยได้กำไรมาก หรืออะไรที่ทำง่ายแต่ได้รับผลตอบแทนสูง นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ในวันที่ 19 ก.พ. 2565 เว็บไซต์กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เผยแพร่บทความ “ตร.เตือนภัยประชาชน 14 ข้อกลโกงมิจฉาชีพ มักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึง “เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์)” พฤติการณ์ของมิจฉาชีพประเภทนี้ จะหลอกผู้เสียหายว่าก่อนได้รับเงินกู้ จะต้องเสียค่าบริการ ค่ามัดจำ หรือค่าดำเนินการต่างๆ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ไม่ได้รับเงินกู้จริงตามที่กล่าวอ้าง


บทความ “กู้ออนไลน์…ต้องรู้ทันโจร” ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบ่งประเภทแอปพลิเคชั่นที่มีการโฆษณาบนโลกออนไลน์ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.เงินกู้ในระบบ มีลักษณะให้เงินกู้เต็มจำนวน และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด 2.เงินกู้นอกระบบ มักให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน แต่เมื่อคืนเงินกู้ต้องจ่ายเต็มจำนวนบวกกับดอกเบี้ยหรือค่าปรับที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด หากจ่ายช้าจะถูกข่มขู่ หรือไปทวงกับบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในโทรศัพท์ของผู้กู้ ทำให้อับอาย เพราะผู้ให้กู้นอกระบบบางรายจะให้ผู้กู้ดาวน์โหลดแอปซึ่งให้คลิกอนุญาตเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ


และ 3.มิจฉาชีพ เป็นแอปฯ ที่ไม่ได้ให้บริการเงินกู้จริงๆ โดยมีข้อสังเกตคือ จะใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น โฆษณาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ส่ง SMS หรือแม้แต่โทรหาโดยตรง หากผู้ที่ได้รับการติดต่อสนใจ มิจฉาชีพก็จะส่ง SMS มาให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอป หรือให้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคาร ทำให้เหยื่อเริ่มเชื่อใจ จากนั้นจะโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน โดยบอกว่าจะคืนให้พร้อมกับเงินกู้ หากหลงกลก็จะหลอกล่อให้โอนเพิ่มอีกเรื่อย ๆ เช่น อ้างว่าโอนเงินไม่ได้เพราะเหยื่อกรอกเลขที่บัญชีผิด มีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเอกสารเพื่อปลดล็อก หรือต้องจ่ายค่าลัดคิวจึงจะได้เงินเร็วขึ้น หากเหยื่อเริ่มรู้ทันก็จะถูกบล็อก ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้อีก


บทความดังกล่าวยังได้แนะนำว่า 1.ตรวจสอบรายชื่อแอปฯ และชื่อผู้ให้บริการ นำข้อมูลชื่อแอปฯ และชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “เช็กแอปเงินกู้” ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว จากนั้น 2.ติดต่อสอบถามตามที่อยู่ /เบอร์โทรศัพท์ที่ได้จากข้อ 1 เพราะบางครั้งมิจฉาชีพหรือแอปเงินกู้นอกระบบจะตั้งชื่อแอปฯคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือสวมรอยเป็นผู้ได้รับอนุญาต เราจึงควรสอบถามหรือหาข้อมูลด้วยตัวเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นแอปของผู้ให้บริการจริงหรือไม่


สำหรับผู้ต้องการตรวจสอบข้อมูลบริษัทที่อ้างว่าให้บริการเงินกู้หรือสินเชื่อ เป็นบริษัทที่ให้บริการจริง มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้โดย 1.เข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.bot.or.th/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของธนาคารแห่งประเทศไทย 2.ที่มุมขวาบนจะมีช่องให้พิมพ์คำค้นหา ให้พิมพ์ว่า “เช็กแอปเงินกู้” แล้วกดค้นหา 3.ระบบจะขึ้น Link และชื่อเนื้อหาขึ้นมา ให้เลือกคลิกเนื้อหาชื่อ “ระวังถูกหลอกให้กู้เงิน ตรวจสอบให้ดีก่อน ไม่โดนหลอกแน่!” ระบบจะนำกลับเข้ามาสู่หน้าเว็บของ ธปท. อีกครั้ง โดยในหน้านี้จะมีรายชื่อของบริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อ ทั้งที่เป็น Non-bank ที่ได้รับอนุญาต สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต และผู้ให้บริการที่ปิดดำเนินการไปแล้ว


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากเสนอแนะว่า เว็บไซต์ทางการของ ธปท. อย่าง https://www.bot.or.th/ ควรปรับปรุงให้มีหัวข้อ “เช็กแอปเงินกู้” อยู่ในหน้าหลักของเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้งานคลิกเข้าไปดูรายชื่อและสถานะของผู้ให้บริการทางการเงินได้เลย แทนที่จะต้องให้ผู้ใช้งานพิมพ์คำดังกล่าวในช่องค้นหา ซึ่งยุ่งยากกว่าโดยเฉพาะกับประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ หรือใครก็ตามที่ยังไม่เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยี และกลุ่มนี้เองที่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ



ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ หลายคน “ร้อนเงิน” ทั้งในการนำไปประกอบอาชีพ ดูแลคนในครอบครัว เมื่อมาบรรจบกับเทคโนโลยีที่สะดวกรวดเร็ว ก็อาจเข้าทาง “มิจฉาชีพ” หลอกลวงให้ต้อง “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” นอกจากไม่ได้เงินเพิ่มแล้วยังต้องเสียเงินที่เหลืออยู่น้อยนิดไปอีก..โปรดระวัง!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-



อ้างอิง
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220106141643036 (สตช.เตือนภัย! กู้เงินออนไลน์อาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ซ้ำเติมความเดือดร้อน สร้างความเสียหายในหลายรูปแบบ : สำนักข่างกรมประชาสัมพันธ์)
https://www.sbpolice.go.th/news/_592.html (ตร.เตือนภัยประชาชน 14 ข้อกลโกงมิจฉาชีพ มักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ : กองบัญชาการตำรวจสันติบาล)
https://www.1213.or.th/th/Pages/finresilience/fakeloanapps.aspx (กู้ออนไลน์…ต้องรู้ทันโจร : ศคง.)
https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Fraud/Pages/BOTLicensedLoan.aspx (ระวัง ถูกหลอกให้กู้เงิน ตรวจสอบให้ดีก่อน ไม่โดนหลอกแน่! : ธนาคารแห่งประเทศไทย)




ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/local/653227 สาวเครียด!กู้เงินเกือบ 2 แสนหวังค้าขาย-ซื้อชุดนร.ให้น้องไม่ได้จะกระโดดสะพานลอย