ห่วง‘ข้อมูลลวง’ระบาดง่ายเหตุเทคโนโลยีทำได้เนียนในราคาถูก แนะรัฐทุ่มทรัพยากรรับมือมิจฉาชีพออนไลน์

กิจกรรม

ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Wit in Bangkok 2024” เปิดพื้นที่เพื่อคนรักวิทยาศาสตร์และประชาชน โดย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระหว่างวันที่ 10-11 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา  ณ สวนป่าเบญจ-กิติ ผ่านกิจกรรมเสวนา “อย่าแชร์ก่อนชัวร์” ช่วงเย็นของวันที่ 11 ส.ค. 2567 พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “The Principia”

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่า ข่าวลวงไม่ค่อยอยากให้ใช้คำว่า Fake News” แต่ก็พอรับได้เพราะกลายเป็นคำที่ติดปากไปแล้ว เพราะคำว่า “News” หรือ ข่าว ไม่ควรจะเป็นเรื่องไม่จริง (Fake) อยู่แล้ว เนื่องจากข่าวคือสิ่งที่อยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งในภาพรวมจะเรียกสิ่งนี้ว่า Misinformation (ข้อมูลคลาดเคลื่อน) หรือ Disinformation (ข้อมูลบิดเบือน) หมายถึงข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งอาจเป็นได้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในยุคดิจิทัลข้อมูลเหล่านี้ถูกทำให้แพร่กระจายไปเร็วมาก ซึ่งทุกคนกลายเป็นผู้สื่อข่าวในโลกออนไลน์ แต่ด้วยทั้งความเร็วและปริมาณก็ทำให้รับมือไม่ไหว หลายอย่างจึงไปไกลมาก และเมื่อคนเชื่อไปแล้วก็ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ไม่ว่าการเมือง สุขภาพ ไปจนถึงการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ อีกทั้งปัญหายังซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยด้านเทคโนโลยี

เมื่อดูสถานการณ์ในประเทศไทย ฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม ระบุว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา พบคนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) หรือการส่งข้อความ(แนบ Link) มากเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย รวมมูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการหลอกให้รัก (Romance Scam) หรือหลอกให้ลงทุน มิจฉาชีพออนไลน์จึงเป็นปัญหาใหญ่

ดังนั้นแล้วภาครัฐควรเน้นให้ถูกจุด เช่น กรณีของประเทศไทย ที่ประชาชนคนไทยใจดีหรือใจอ่อนในแง่หลงเชื่อมิจฉาชีพกันมาก ดังนั้นการทุ่มเททรัพยากรของภาครัฐในการแก้ปัญหา อาทิ การตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวลวง ก็ควรให้ความสำคัญกับการช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือมิจฉาชีพได้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาภาครัฐอาจทุ่มเททรัพยากรไปเพื่อการสกัดกั้นข้อมูลที่เป็นเรื่องการเมือง

“เรื่องมิจฉาชีพ ไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ ช่วงแรกเข้าใจว่าเป็นปรากฏการณ์ แต่เหมือนกับยิ่งแก้ยิ่งหนัก เหมือนกับมีการรณรงค์มากขึ้นแต่คนก็ยิ่งถูกหลอกมากขึ้น แล้วข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยนี่คือหลุดถล่มทลาย วันก่อนมีโอกาสไปประชุมในวงหน่วยงานราชการในภาคโทรคมนาคม ก็ตกใจอยู่เหมือนกัน มิจฉาชีพรู้กระทั่งจำนวนเงินในบัญชีของคุณ ฉะนั้นไม่เหลืออะไรแล้ว มิจฉาชีพโทรมาแล้วรู้กระทั่งว่าเรามีเงินในบัญชีเท่าไร ทำให้คนพร้อมจะเชื่อว่าเป็นจริง” สุภิญญา กล่าว

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากนับระยะเวลาสิบกว่าปีที่ตนสื่อสารประเด็นต่างๆ ที่สังคมสงสัยหรือร่ำลือกันด้วยข้อเท็จจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ มีทั้ง ข่าวดีคือคนไทยมีวิจารณญาณมากขึ้น เช่น เรื่องน้ำมะนาวผสมโซดาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ในอดีตตนต้องคอยไปตามอธิบายอยู่เรื่อยๆ ว่าไม่เป็นความจริง แต่เมื่อทำบ่อยๆ ข้อมูลที่เคยถูกแชร์วนซ้ำแบบถี่ๆ ก็มีความถี่ลดลง จากแทบทุกวันก็ลดเป็นหลักสัปดาห์ หลักเดือน หรืออาจแชร์กลับวนมาเพียงปีละครั้ง

ขณะเดียวกัน การตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ยังมีองค์กรอื่นๆ เข้ามาร่วมทำด้วย เช่น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ภาคีโคแฟคฯ ตลอดจนสื่อมวลชน ประกอบกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเองหลายครั้งก็ช่วยเข้าไปอธิบายว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเวลาที่มีใครโพสต์หรือแชร์ข่าวลวง ทั้งนี้ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ แต่ก็ยังสามารถถูกแชร์ต่อไปได้โดยย้ายไปยังแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น จากจดหมายลูกโซ่สู่ Forward Mail แล้วมาสู่เว็บบอร์ด จากนั้นก็มาสู่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ (X) เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ติ๊กต๊อก

แต่ ข่าวร้าย คือมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ดำรงอยู่ได้คือ กิเลส เช่น กลัวมากๆ ชอบมากๆ อย่างช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คนที่ทำงานรับมือข่าวลวงต้องทำงานหนักตั้งแต่ช่วงที่โรคยังไม่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยจนกระทั่งถึงช่วงที่เริ่มระดมฉีดวัคซีน การรับมือจึงต้องค้นหาข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ หรืออย่างเมื่อเร็วๆ นี้กับกรณีปลาหมอคางดำ ก็ยังมีข่าวลวง เช่น ปลานิลคางดำ ที่กลายพันธุ์จากปลาหมอคางดำ หรือเป็นลูกผสมกับปลาหมอคางดำ เป็นต้น

ความน่าห่วงอีกประการหนึ่งคือแพลตฟอร์มประเภทคลิปวีดีโอ เช่น ติ๊กต๊อก เพราะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพราะสื่อวีดีโอนั้นดึงดูดสายตาคน ประกอบกับมีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหา (Content Creator) ที่มุ่งทำทุกอย่างหรือทำอะไรก็ได้เพื่อให้มียอดผู้ติดตามหรือยอดส่งต่อเนื้อหามากที่สุด ดังนั้นแม้จะเป็นข่าวลวงที่เคยถูกแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องไปแล้ว ก็พร้อมที่จะถูกหยิบมาเล่าใหม่พร้อมภาพประกอบ รวมถึงบรรดาคนมีชื่อเสียงในสังคมก็ยังลงมาเป็นผู้ผลิตเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งเมื่อเห็นว่าเป็นเนื้อหาจากคนดัง หลายคนก็พร้อมจะเชื่อทันที

“สถานการณ์ในมุมที่บอกว่ามันดีขึ้น มันก็มีสถานการณ์ที่ดูแล้วน่าเป็นห่วง คนระดมเข้ามาทำข่าวปลอมด้วยความตั้งใจเพื่อให้คนแชร์ในปริมาณเยอะขึ้น และที่น่าห่วงที่ ณ เวลานี้ การเข้ามาของ AI (ปัญญาประดิษฐ์) น่ากลัวมาก ปัญญาประดิษฐ์ทำให้จากที่เคยว่ารูปนี้ตัดต่อ ใช้ Photoshop ดูก็รู้รอยต่อ ณ วันนี้มันเนียนมาก มันมีทั้งภาพ AI วีดีโอ AI หรือแม้แต่เสียง AI ซึ่งเริ่มถกเถียงกันว่าตกลงเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง?” รศ.ดร.เจษฎา ระบุ

พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวว่า เราถูกหลอกในหลายมิติ เช่น สุขภาพที่เป็นเรื่องส่วนตัว สุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายของหน่วยงาน มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ ข้อมูลข่าวสารเรื่องการเมืองต่างๆ แต่ความรุนแรงที่แต่ละคนรับในแต่ละเรื่องนั้นไม่เท่ากัน เช่น คนที่สนใจวิทยาศาสตร์ อะไรที่ป้องกันได้ด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ก็อาจไม่ตกเป็นเหยื่อ แต่อาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพประเภทหลอกให้รักเพราะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก 

ดังนั้นการรับมือจึงไม่อาจทำได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง และระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็หลากหลายขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หรือแม้แต่ในบุคคลนั้นก็ยังมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์เข้ามาด้วย เช่น ทำงานมาเหนื่อยๆ สมองล้า เจอความผิดหวังจากงาน ก็ทำให้หลงเชื่อง่ายขึ้น โดยสรุปแล้วผลกระทบจากข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จเป็นเรื่องที่กำหนดได้ยากว่าเรื่องใดเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดหรือรุนแรงที่สุด เพราะขึ้นอยู่กับมุมที่แต่ละคนมองว่าให้ความสำคัยกับอะไร บางคนอาจมองเรื่องเงิน แต่บางคนก็มองเรื่องสุขภาพ

แต่การถูกหลอกที่ทำให้เราสูญเสียมากๆ คือการถูกหลอกโดยอุบายของมิจฉาชีพซึ่งมีหลายวิธี และอาจมีสักวิธีหนึ่งที่เราตกเป็นเหยื่อได้ อีกทั้งปัจจุบันต้นทุนในการหลอกลวงก็มีราคาถูกลงอย่างมากทั้งนี้ ต้องคิดให้ดีก่อนที่จะเชื่ออะไร เช่น มีไลน์ส่งเข้ามาก็ต้องคิดว่าเป็นคนคนนั้นส่งข้อความมาจริงหรือไม่ หรือเป็นการนำรูปและชื่อมาใช้ หรือมีการเปิดเพจอ้างว่าเป็นรีสอร์ตแห่งหนึ่ง ก็ต้องคิดว่าคนเปิดเป็นเจ้าของรีสอร์ตนั้นจริงหรือไม่ 

โดยหลักของชัวร์ก่อนแชร์ คือการต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เราได้เห็นในสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ จริงไหม? ครบไหม? เก่าไหม? มีอคติไหม? เกี่ยวข้องกันไหม? เพราะมีทั้งเรื่องเก่า เรื่องไม่จริง เรื่องโยงมั่ว เรื่องที่สร้างด้วยอคติ เรื่องที่พูดความจริงไม่ครบถ้วน เป็นต้น ซึ่งก่อนที่จะหยิบเครื่องมือต่างๆ มาตรวจสอบข้อเท็จจริง ต้องเริ่มจากการตั้งข้อสงสัย เพราะหากไม่สงสัยก็จะไม่นำไปสู่การหยิบเครื่องมือมาใช้ นอกจากนั้น “การแชร์ข้อมูลอยากให้คิดก่อนว่าจำเป็นต้องแชร์หรือไม่? และพร้อมจะรับผลที่ตามมาหรือเปล่า?” เพราะทุกการแชร์มีผู้ได้รับผลกระทบ

ผลกระทบมันมีหลากหลายทางมาก บางครั้งเราแชร์เรื่องแบบมะนาวโซดารักษามะเร็ง เป็นตัวอย่างคลาสสิก มะนาวโซดาก็กินได้ แชร์ไปกินไปก็อาจไม่เป็นไร คนป่วยกินไปก็ไม่เป็นไร คุณหมอก็จะเจอคนที่กระเพาะมีปัญหามาเพราะกินสิ่งที่เป็นกรดมากเกินไป ผมเคยคุยกับหมอ คุณหมอก็กังวลว่ามีคนหยุดการรักษาเพราะไปกินสูตรรักษามะเร็งต่างๆ แล้วหยุดการรักษา แล้วกลับมาอีกก็พ้นช่วง Golden Period (ช่วงเวลาแห่งการรักษา) ไปแล้ว ดังนั้นมันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นในลักษณนี้ที่เราเห็นอยู่ พีรพลกล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-