เหลียวมองแดนมังกร ‘จีน’คุมเข้ม‘อินฟลูเอนเซอร์’ทำคอนเทนต์ต้องรู้จริงเรื่องนั้น หวังแก้ปัญหาข้อมูลผิดพลาด

บทความ

27 มิ.ย. 2565 “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” คือนิยามของยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น สร้างและเผยแพร่เนื้อหาได้ง่ายดายผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของ “อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)” หรือผู้มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางความคิดของผู้คน อย่างไรก็ตาม การมีแนวคิดและข้อมูลที่เผยแพร่กันอย่างมหาศาลบนโลกออนไลน์ ก็นำมาซึ่งคำถามว่า “อะไรคือข้อมูลที่ถูกต้อง” นำไปสู่ปัญหา “ข่าวปลอม (Fake News)-ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation)-ข้อมูลคลาดเคลื่อน (Misinformation)” สร้างความสับสนแก่สังคม


ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งที่ฮือฮามากและถูกเผยแพร่จากสื่อมวลชนหลายประเทศ นั่นคือ “รัฐบาลจีนคุมเข้มอินฟลูเอนเซอร์ ..ใครจะนำเสนอเรื่องใดต้องรู้จริงในเรื่องนั้นด้วย” เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย South China Moring Post หนังสือพิมพ์เจ้าดังของฮ่องกง เสนอข่าว China’s new live-streaming guidelines set to change the influencer business known for its ‘low threshold, high income’ อ้างอิงบทความจาก People’s Daily หนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่แสดงความกังวลกับปัญหาที่เหล่าคนดังบนโลกออนไลน์ก่อขึ้น


“การสตรีมสดไม่ใช่งานที่คุณจะทำได้เพียงแค่เตรียมอุปกรณ์และเรื่องตลก ซึ่งนักสตรีมบางคนที่ขายสินค้าออนไลน์ได้นำปัญหามาสู่พวกเขาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ บทเรียนนั้นลึกซึ้ง (Live-streaming was not a job which you can do just by preparing some equipment and jokes. Some live-streamers who sell products online have accidentally brought trouble on themselves , The lesson is profound) ในการเป็นผู้ถ่ายทอดสด คุณต้องเคารพกฎ อย่าทดสอบข้อจำกัดเพื่อให้ได้ยอดคนดูมากขึ้น อย่าท้าทายกฎหมายเพื่อสร้างรายได้ และการเล่นอะไรที่หมิ่นเหม่มากไปก็ไม่เป็นที่ยอมรับ (To be a live-streamer, you must respect the rules. Don’t test the limits in order to get more traffic, [don’t] challenge the law to make money, playing too close to the edge was also not acceptable)” ตอนหนึ่งจากบทความของ People’s Daily ระบุ


บทความจากสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เผยแพร่หลังจากที่ทางการจีนออกข้อกำหนดของการเผยแพร่เนื้อหาผ่านสื่อออนไลน์ โดยเน้นไปที่การจัดรายการแบบถ่ายทอดสด (Live-streaming) โดยมีข้อห้าม 31 ประการ อีกทั้งกำหนดเนื้อหาบางประเทศที่ผู้นำเสนอต้องเป็นผู้รู้ในด้านนั้นจริงๆ เช่น กฎหมาย การเงิน การแพทย์ การศึกษา เป็นต้น โดยแนวปฏิบัติรวม 18 ข้อ ได้รับการเผยแพร่โดยสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว


มาตรการใหม่ของทางการจีนเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเติบโตของการจัดรายการสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในปี 2563 พบว่าวงการนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.2 ล้านล้านหยวน หรือราว 6 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์และกักตัว แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการหาเงินกันแบบ “มาตรฐานต่ำแต่รายได้สูง (low threshold and high income)” นำไปสู่การที่อินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องการนำเสนอเนื้อหาในบางสาขา จำเป็นต้องมีหลักฐานรับรองด้วยว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้จริงในสาขานั้น


เชลซี ทัม (Chelsey Tam) นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Morningstar หนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของโลก ให้ความเห็นว่า กฎระเบียบใหม่จะยังไม่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับบริษัทอินเตอร์เน็ตของจีน โดยจะมีหน้าที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้นสำหรับแพลตฟอร์มภาพและเสียงทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจเพิ่มค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามข้อกำหนด อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบนี้ไม่มีบทลงโทษเป็นการเฉพาะหากรัฐบาลเห็นว่าแพลตฟอร์มปล่อยปละละเลย ดังนั้นนักแสดงหรือผู้ดำเนินรายการก็อาจพบความเสี่ยงมากขึ้น


มาร์ค แทนเนอร์ (Mark Tanner) กรรมการผู้จัดการของ China Skinny บริษัทที่ปรึกษาด้านการทำการตลาดกับจีน มองว่า กฎระเบียบใหม่ไม่น่าจะทำให้คนหนุ่ม-สาวละทิ้งอาชีพนักจัดรายการสดทางออนไลน์ เพราะอาชีพนี้นั้นค่อนข้างเปิดกว้าง อีกทั้งยังมีปัญหาการว่างงานของคนรุ่นใหม่อีกเกือบร้อยละ 20 โดยพบว่า ในเดือน พ.ค. 2565 คนรุ่นใหม่แดนมังกรว่างงานร้อยละ 18.4 ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561 ที่ทางการจีนเริ่มเปิดเผยข้อมูล


ศ.หวังซิซิน (Prof.Wang Sixin) นักวิชาการจาก Communication University of China กล่าวว่า โดยเฉพาะสาขาที่ต้องการเฉพาะทาง ความต้องการคุณภาพของคนหนุ่ม-สาวในการเป็นนักจัดรายการสดจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมีสาขาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความเป็นมืออาชีพเฉพาะทาง ที่สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้


ขณะที่ India Today นิตยสารดังในอินเดีย เผยแพร่บทความ China says influencers and streamers need to have professional qualifications to talk about something ยกตัวอย่างข้อกังวลของทางการจีนจนนำมาสู่การออกระเบียบใหม่เพื่อควบคุมบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ เช่น หากเป็นผู้ขายอาหารเสริมก็ต้องตระหนักถึงผลข้างเคียงและผลกระทบต่อผู้คนอย่างเพียงพอ อาทิ ควรเป็นผู้ที่ใช้งานจริงหรืออย่างน้อยต้องรู้จักส่วนผสมต่างๆ ในผลิตภัณฑ์นั้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง พบบรรดาคนดังบนโลกออนไลน์แนะนำวิธีการรักษาสารพัดอย่าง ซึ่งแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิตัวอย่างระบุว่า วิธีการจำนวนมากที่แนะนำกันนั้นไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม แม้แนวทาง 18 ข้อของจีน จะแนะนำว่าการให้ข้อมูลหรือความเห็นในบางสาขา อาทิ กฎหมาย การเงิน การแพทย์ การศึกษา ต้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ แต่ก็ไมได้ระบุอย่างชัดเจนว่าหมายถึงอะไร


อังคิตา จักรวารตี (Ankita Chakravarti) ผู้เขียนบทความของ India Today ให้ความเห็นไว้ในตอนท้ายว่า แนวทางของจีนข้างต้นน่าจะนำมาใช้ในอินเดียด้วยเช่นกัน เพราะบนโลกออนไลน์มีความเห็นและผู้มีอิทธิพลทางความคิดมากเกินไป อาทิ มีคนดังที่มียอดผู้ติดตามหลัก 7-8 ล้านราย ระบุในโพสต์หนึ่งว่า การทำ “ฮาวัน (Hawan)” ซึ่งเป็นพิธีกรรมหนึ่งในศาสนาฮินดู สามารถลดมลพิษในอากาศได้ แต่สิ่งนี้ไม่มีการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ บุคคลที่มีชื่อเสียงจึงไม่ควรนำมากล่าวถึง หากอินเดียเริ่มปราบปรามบัญชีสื่อออนไลน์ที่ให้ข้อมูลผิดๆ กับประชาชน ก็จะช่วยจำกัดการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จได้เป็นอย่างดี
ด้าน Yahoo ผู้ให้บริการ Search Engine ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาได้เปิดตัวสำนักข่าวออนไลน์ของตนเองขึ้น เสนอข่าว Chinese influencers now required to prove qualifications to talk about topics like finance, medicine ระบุว่า กฎระเบียบใหม่ของทางการจีนที่ออกมาในวันที่ 21 มิ.ย. 2565 เรียกร้องมาตรฐานความเป็นมืออาชีพที่สูงขึ้นในเนื้อหาบางประเภท กับบรรดาอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มที่จัดรายการสด ซึ่งแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของอินฟลูเอนเซอร์ และเนื้อหาก่อนออกอากาศ ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกห้ามจัดรายการสดอย่างถาวร รวมถึงอาจถูกขึ้นรายชื่อประจานต่อสาธารณะ


รายงานข่าวจากสื่อหลายสำนัก ยังระบุด้วยว่า มาตรการล่าสุดของทางการจีนที่ควบคุมอินฟลูอินเซอร์ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดระเบียบโลกออนไลน์ โดย Yahoo News รายงานว่า ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่ออกมา ทั้งในด้านการเมือง เช่น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือห้ามนำเสนอเนื้อหาที่กระทบความมั่นคงของชาติ และในด้านสังคม เช่น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมจีน ห้ามเนื้อหาที่ส่อไปในเรื่องเพศจนเกินสมควร เนื้อหาที่สยดสยองมากเกินไป ห้ามส่งเสริมการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคแบบกินทิ้งกินขว้าง หรือการมีส่วนร่วมกับเรื่องอื้อฉาวและเรื่องซุบซิบนินทา


ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2565 หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ของจีน เผยแพร่นโยบายต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และเนื้อหาอื่นๆ ที่ผิดกฎหมาย เช่น สื่อลามกอนาจาร การฆ่าตัวตาย ความรุนแรง และหากย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค. 2565 ทางการจีนออกประกาศห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ซื้อของขวัญทางออนไลน์ให้กับอินฟลูเอนเซอร์ และห้ามรับชมการจัดรายการสดหลังเวลา 22.00 น.


ขณะที่ CNBC สถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เสนอข่าว Chinese influencers must now have a qualification to talk about certain topics like law and medicine ระบุเพิ่มเติมในส่วนของการคุมเข้มเนื้อหาด้านการเมืองด้วยว่า ห้ามใช้เทคโนโลยี “ดีปเฟค (Deep Fake)” ซึ่งสามารถตัดต่อภาพและเสียงของบุคคลขึ้นมาได้ เพราะหวั่นเกรงจะนำไปใช้เลียนแบบภาพและเสียงของผู้นำประเทศหรือบุคคลสำคัญทางการเมือง เผยแพร่เป็นคลิปวีดีโอโดยที่เจ้าตัวไม่ได้พูดหรือทำสิ่งนั้นจริงๆ
Fortune นิตยสารดังของสหรัฐฯ เสนอข่าว livestreamers prove they’re qualified to promote certain products ในตอนหนึ่งได้อธิบายประเด็น Deep Fake ว่า สืบเนื่องจากการจัดระเบียบโลกออนไลน์ของทางการจีนที่มีมาตรการเข้มงวดมากมาย ทำให้หลายกิจการหันไปใช้ “อวตารเสมือนจริง (Virtual Avatar)” เพื่อเผยแพร่เนื้อหาแทนมนุษย์ จึงต้องมีกฎห้ามใช้เทคโนโลยี Deep Fake ปลอมแปลงเป็นผู้นำทางการเมือง

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวมาตรการคุมเข้มโลกออนไลน์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงล่าสุดถึงขั้นต้องควบคุมมาตรฐานของบรรดา “กูรูออนไลน์” กันแล้ว ที่หยิบยกมาบอกเล่าเป็นเกร็ดความรู้ ส่วนสังคมไทยจะว่าอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องให้คนไทย (ที่ขึ้นชื่อเรื่องใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก) ช่วยกันพิจารณา!!!


-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง
https://www.scmp.com/tech/big-tech/article/3182968/chinas-new-live-streaming-guidelines-set-change-influencer-business (China’s new live-streaming guidelines set to change the influencer business known for its ‘low threshold, high income’ : SCMP 24 มิ.ย. 2565)
https://www.indiatoday.in/technology/news/story/china-says-influencers-and-streamers-need-to-have-professional-qualifications-to-talk-about-something-1966208-2022-06-24 (China says influencers and streamers need to have professional qualifications to talk about something : India Today 24 มิ.ย. 2565)
https://news.yahoo.com/chinese-influencers-now-required-prove-002253798.html (Chinese influencers now required to prove qualifications to talk about topics like finance, medicine : Yahoo News 24 มิ.ย. 2565)
https://www.cnbc.com/2022/06/23/china-livestreamers-need-qualifications-for-certain-topics-regulators.html (Chinese influencers must now have a qualification to talk about certain topics like law and medicine ; CNBC 22 มิ.ย. 2565)
https://fortune.com/2022/06/23/china-livestreaming-law-medicine-ecommerce-regulation-crackdown/ (livestreamers prove they’re qualified to promote certain products : Fortune 23 มิ.ย. 2565)