สกัดข่าวลวง! เปิดตัว “Cofact” พื้นที่ออนไลน์ภาคพลเมืองช่วยตรวจสอบ

บทความ

ภาคีประชาสังคม เปิดตัว line Chatbot “Cofact” เปิดพื้นเพื่อประชาชนตรวจสอบข้อมูลข่าวลวง-เท็จ ช่วยภาคพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ

เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคีประชาสังคมจัดเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinker Forum#8 เรื่อง “Cofact vs Covid19 เราควรรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสารอย่างไรให้สมดุล” พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์และ line Chatbot “Cofact” ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลข่าวสารว่าเป็นข่าวลวงหรือไม่ ย้ำระบบพัฒนาได้โดยยึดฐานการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้งาน

สุนิตย์ เชรษฐา จาก Change Fusion หนึ่งในทีมพัฒนาระบบกล่าวถึงที่มาของโครงการว่าได้รับแรงบันดาลใจจากกรณีศึกษาในไต้หวัน ที่เชื่อเรื่องพลังของภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร โดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์สร้างพื้นที่กลางเพื่อให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริง คัดกรองและตรวจสอบข่าวลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้หารือกับคุณออร์เดร ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล ฯ และและทีมพัฒนาต้นแบบในไต้หวัน โดยมี OpenDream เป็นทีมพัฒนาต่อยอดระบบให้เหมาะกับบริบทของไทย

โครงการ Cofact หรือ Collaborative Fact Checking เป็นการใช้เทคโนโลยีภาคพลเมือง (Civic Tech) เชื่อมกับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) โดยมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครคัดกรองข่าว นอกจากเว็บไซต์หลักแล้ว ยังมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนส่งข่าวให้ทีมกลั่นกรองได้ มีการพัฒนางานข่าวเชิงลึก นำเสนอบทความที่น่าสนใจอันสืบเนื่องจากประเด็นข่าวจริงข่าวลวงที่เป็นกระแส การใช้งานง่ายเพียงเข้าสู่ระบบแล้วพิมพ์ข้อมูลคำที่ต้องการตรวจสอบหรือค้นหาได้เลย หากมีฐานข้อมูลเรื่องดังกล่าว ก็จะปรากฎข้อความให้ทราบว่ามีคนตรวจสอบและสืบค้นแล้วหรือไม่อย่างไร

“เป้าหมายคืออยากให้การตรวจสอบมาจากทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เป็นคนใช้งาน หัวใจสำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วม คนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ง่ายๆ ไม่ต้องเสียเวลาสืบค้นมาก เมื่อพบข้อเท็จจริงแล้วอยากให้แชร์ต่อให้คนอื่นรับทราบด้วย ข้อมูลนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาจมีทั้งจริง ไม่จริงและยังตรวจสอบไม่ได้ แต่เครื่องมือนี้จะทำให้เครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากได้เก็บข้อมูลและแชร์ฐานข้อมูลกลางที่กำลังเป็นกระแสเพื่อตรวจสอบข่าวลวงได้ รวมทั้งการวิเคราะห์หาต้นตอแหล่งกำเนิดข่าวลวง”

สุนิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีศึกษาข่าวสารในช่วงการระบาดของไวรัส Covid-19 พบว่าต้นตอของข่าวลวงนั้นมาจากหลากหลายแหล่งที่มีรูปแบบแตกต่างกัน เมื่อแชร์แล้วทำให้กระแสกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มของผู้ทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้อง (corrector) ของข้อมูลดังกล่าวด้วย ยิ่งมีจำนวนมากก็ทำให้ข่าวลวงกำลังอ่อนลง ดังนั้นหากสร้างระบบนิเวศของการจัดการข่าวลวง ให้คนช่วยกันตรวจสอบได้มาก จะลดข่าวลวงได้ในที่สุด

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Cofact กล่าวว่า แนวคิดนี้ให้คุณค่ากับความรับผิดชอบของพลเมือง ทุกภาคส่วนเป็นผู้ร่วมตรวจสอบข่าวลวงด้วยกัน  “เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาข่าวลวงในยุคดิจิทัลคือการทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าวหรือ Fact checker และสร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยเปิดเวทีให้มีตลาดทางความคิดเห็นที่หลากหลาย (Marketplace of Ideas) แยกแยะได้ระหว่างข้อเท็จจริง (Facts) และความคิดเห็น (Opinion) โดยเชื่อมั่นในวิจารณญาณของสังคม ท้ายที่สุดแล้วถ้าเราไม่สามารถเชื่ออะไรได้เลย ก็ไม่เชื่อไว้ก่อนจนกว่าจะมีการสืบค้นข้อเท็จจริงจนประจักษ์ร่วมกัน ย่อมดีกว่าการเชื่อไปโดยไม่ไตร่ตรอง หรือเชื่ออย่างมืดบอด”

ด้าน สถาพร อารักษ์วทนะ จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าการระบาดของ Covid-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายมิติ รวมทั้งข่าวลวงก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคมที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนสูงถึง 1,055 รายการ แบ่งเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับข้อมูลสายสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์ ฉลากอาหารและผลิตภัณฑ์ถูกยกเลิกไปแล้วหรือไม่มีเลข อย. แต่ยังพบในท้องตลาด

“ข้อมูลเช่นโฆษณาว่ากินอะไรเสริมภูมิต้านทาน ต้านโควิดหรือฆ่าเชื้อได้ คนที่ตระหนกยังไม่ทันตรวจสอบก็ซื้อหมด ช่องทางการขาย e market place ทำให้ซื้อขายได้ง่าย ตรวจสอบยาก ที่น่าเป็นห่วงคือสินค้าไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมาย เช่น เจลอนามัยและแอลกอฮอล์รวมทั้งหน้ากากอนามัย เราประสานเจ้าของตลาดออนไลน์ให้เอาการขายเหล่านี้ออกไป เขาให้ความร่วมมือแต่ผู้ค้าก็มีเทคนิคพยายามเอาโฆษณากลับเข้ามาอีก”

สถาพร อารักษ์วทนะ จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ผู้บริโภคยังได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเที่ยวบิน ยกเลิกทัวร์ และพิษเศรษฐกิจจากมาตรการต่างๆ เพื่อระงับการระบาดของโรคทำให้มีคนตกงาน หยุดงาน มีหนี้บัตรเครดิต ล่าสุดคือการลงทะเบียนรับสิทธิใช้อินเตอร์เน็ตฟรีเพราะทำให้คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่เดิมนั้นกระทบจากความเร็วเน็ตที่ลดลง สถาพรกล่าวอีกว่า ถ้าทุกคนสงสัยและตั้งคำถาม จะนำไปสู่การค้นหาความจริง อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ ตรวจสอบทุกครั้ง และเมื่อทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ก็จะส่งให้ CoFact ทันที เพื่อให้ทุกคนเจ้ามาค้นหาความจริงได้
พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่าข่าวปลอมและข่าวลวงเกิดขึ้นทุกวัน อีกทั้งการตรวจสอบยากขึ้น กรณี Covid-19 ถือเป็นโอลิมปิกของปัญหาข่าวลวงระบาดซึ่งเป็นสถานการณ์ทั่วโลก เพียงแต่อาจมีบางกรณีที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นที่แตกต่างออกไป หากจำแนกแหล่งที่มาของการเกิดข่าวลวงหรือสร้างความเข้าใจผิด อาจแบ่งได้เป็น 8 กลุ่มหลัก คือ สื่อทุกระดับ, ผู้เชี่ยวชาญทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และไม่เกี่ยวกับการแพทย์, คนขายของทำให้คนเชื่อและสั่งซื้อไปกินไปใช้,ประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ,การหลอกลวงมาจากต่างประเทศ แล้วกระจายข้อมูลเข้ามาในไทย,ปัญหาจากการทำงานไม่ลงรอยระหว่างหน่วยงานราชการ/นักการเมือง,คนที่ตั้งใจป่วน กุข่าวลวง หวังผลให้แตกตื่นตกใจและเหตุจากการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วน

“ข้อมูลหลายส่วนมีทั้งข้อเท็จจริงและสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงอาจทำให้คนตื่นตระหนก เกิดความเข้าใจผิด เครียดและสับสนนำไปสู่การป้องกันดูแลตัวเองผิดวิธี ทางแก้ไข คือเราต้องตรวจสอบอย่างรอบด้าน ไม่รีบร้อนแชร์ส่งต่อข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสของสื่อและคนทำงานเพื่อตรวจสอบข้อมูลให้ประชาชน หากไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจนให้สงสัยไว้ก่อน อย่าเผยแพร่ ถ้าไม่แน่ใจ เช่น ไม่มีแถลงข่าว ไม่มีเสียงบุคคลนั้นพูด ไม่มีเอกสารที่ตรวจสอบที่มาได้ ไม่มีลิงก์ไปยังเว็บไซต์ โดยเฉพาะคนที่มีความน่าเชื่อถือก็ต้องระมัดระวังการแชร์หรือเปิดเผยข้อมูลด้วย”

อย่างไรก็ตาม พีรพลมองในแง่ดีว่า ข่าวสารที่มีมากก็ทำให้คนตั้งคำถามกันมากขึ้นเกิดข้อสงสัยมากขึ้นด้วย สำหรับประเทศไทย เขาเห็นว่าประเด็นที่อ่อนไหวง่ายคือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาการหรือศัพท์เทคนิคทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ การวิจัย ซึ่งหาแหล่งตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ยาก

ส่วน ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แบ่งปันประสบการณ์ตรงในฐานะผู้เคยตกอยู่ในกระแสข่าวลวง ทั้งจากกรณีของคุณพ่อคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อถูกคนแอบอ้างชื่อเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมกับกปปส. ประมาณปี ค.ศ. 2014 โพสต์นั้นถูกแชร์ไปกว่า3หมื่นครั้งและมียอดไลค์กว่า2หมื่นครั้ง แม้จะมีข่าวแก้ไขในเวลาต่อมา แต่ยอดการแชร์ก็น้อยกว่าข่าวลวงที่เสนอไปก่อนหน้านั้น

ส่วนตัวเขาเองก็เจอประสบการณ์ถูกแอบอ้างชื่อปีที่แล้ว หลังจากโพสต์เกี่ยวกับหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ เขาแสดงความเห็นว่าประเทศไทยต้องมีมาตรฐานทางกฎหมายมากกว่านี้ ไม่ควรมองคู่แข่งทางการเมืองเป็นศัตรูเพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เนื้อหาในบทความนั้นไม่ได้เชียร์หรือตำหนิใครอย่างเจาะจง แต่มีคนเอาบทความอีกชิ้นที่ใช้ถ้อยคำและภาษารุนแรงกว่า เอามาต่อกันโดยเหมารวมว่าเป็นงานเขียนของฟูอาดี้ทั้งหมด ซึ่งไม่จริง จนเกิดการแชร์กระจายไปอย่างกว้างขวาง

“ผมเห็นว่ามี 3 ประเด็นที่เป็นข้อสังเกต อย่างแรกคือข้อมูลข่าวสารที่กุขึ้น เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจะไปได้ไกลกว่าข่าวจริงที่มีเนื้อหาสาระ ประการที่ 2 ข่าวบางเรื่องแม้จะเป็นความจริงในช่วงเวลาหนึ่งแต่เมื่อสถานการณ์และเวลาเปลี่ยนไป มีข้อมูลใหม่เข้ามาทดแทน ข้อมูลเก่าก็ไม่ถูกต้องแล้ว เราต้องตระหนักเรื่องนี้ เช่น คำแนะนำสวมหน้ากากอนามัยสำหรับคนที่ไม่ป่วย ตอนแรกองค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่จำเป็น แต่พอหลังจากการระบาดหนักขึ้นก็บอกว่าคนไม่ป่วยก็ควรใส่เพื่อป้องกัน เป็นต้น และสุดท้ายความยากในการแยกแยะระหว่างความจริงกับข้อคิดเห็น เช่น ในเมืองไทยตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าตกลงรัฐบาลรับมือกับการระบาดได้ดีแค่ไหน เพราะยังมีความเห็นเป็นสองฝ่าย”

ฟูอาดี้เห็นว่า หาก Cofact สามารถพัฒนาระบบเพิ่มขึ้นนอกจากการตรวจสอบข่าวลวงแล้ว ยังทำหน้าที่ช่วยนำเสนอข้อมูลข่าวประจำวัน โดยเชื่อมโยงข่าวจากแหล่งต่าง ๆที่หลากหลาย หรือข่าวที่มีความเห็นแตกต่างในแง่มุมอื่นมาให้ผู้รับสารได้เลือกเพื่ออ่านประกอบด้วยก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

กล้า ตั้งสุวรรณ CEO, ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) บริษัทผู้นำด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล และเป็นพันธมิตรทำงานร่วมกับ Cofact กล่าวว่าการระบาดของข่าวสารในช่วง Covid-19 หลักๆ มาจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ข่าวลวงกระจายได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ดังนั้นเมื่อข่าวลวงเกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี ก็ต้องใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ก่อนหน้านั้น ข่าวลวงมีอยู่แล้ว แต่จำนวนและการแพร่กระจายไม่มาก เมื่อมีสื่อออนไลน์ก็ทำให้ข่าวลวงขยายตัวแบบก้าวกระโดด

“เราทำงานร่วมกับ Cofact เพื่อคัดกรองข้อมูลข่าวสารแล้วประมวลผลโดยใช้ระบบและเทคโนโลยีช่วยจัดการข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น เช่น ระหว่างวันที่ 13-16 มี.ค. เป็นช่วงที่ข่าวสารกระจายมาก เพราะรัฐบาลประกาศไม่หยุดสงกรานต์ การสื่อสารส่งต่อข้อมูลออนไลน์มากถึง 760 ล้านครั้ง เกินกว่ามนุษย์จะประมวลได้ก็ต้องใช้ระบบและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ ทำให้เราเห็นรายละเอียดถึงพื้นที่กระจายข่าวสารได้ เช่น ภาคตะวันออกจะใช้โซเชียลมีเดียเยอะ เป็นต้น”

กล้า ตั้งข้อสังเกตให้เท่าทันสื่อออนไลน์ว่า บางแพลตฟอร์มถูกออกแบบสำหรับการสื่อสารระหว่างเพื่อนบอกเพื่อน ทำให้ข่าวสารถูกคัดกรองเฉพาะเนื้อหาที่เราชอบและเลือกจะดูหรือฟัง จึงอาจทำให้เรารู้ข้อมูลแคบลง เพราะเป็นข้อมูลที่มีความคิดเห็นร่วมด้วย ไม่ได้มีเฉพาะข้อเท็จจริง เขายังให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ว่าภารกิจสำคัญ คือการควบคุมให้น้อย และสนับสนุนให้ประชาชนได้สื่อสารกันมากขึ้น โดยมีระบบรองรับที่เหมาะสมและเพียงพอ

ก่อนหน้านั้น ตัวแทนองค์กรร่วมจัดงานและผลักดันการเกิดขึ้นของ Cofact ต่างร่วมแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องในแนวทางเดียวกันว่า ท่ามกลางสังคมที่มีข่าวสารท่วมท้น มีด้านมืดของข้อมูลอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนและผู้บริโภค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีพื้นที่กลางเพื่อตรวจสอบข่าวลวง

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เล่าย้อนที่มาของโครงการว่าเกิดจากความร่วมมือ 8 องค์กร ที่ได้ลงนามสัตยาบันร่วมกันตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ บนฐานของการมีส่วนร่วมจากคนในสังคม

“เราถือว่าประชาชนคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตใช้ออนไลน์ ทุกคนมีส่วนช่วยกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสารได้ ไม่มีใครผูกขาดความจริง ไม่มีใครผูกขาดความถูกต้อง แต่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข่าวสารในสังคม ทำให้นิเวศน์สื่อดีขึ้นได้”

ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ Covid-19 ระบาด ทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง แม้ว่าระบบสาธารณสุขไทยมีความก้าวหน้าติดอันดับโลก และมีระบบการบริหารจัดการได้ดี แต่เรื่องสำคัญคือการมีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่ขาดการคัดกรองความถูกต้องโดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องความเร็ว จึงทำให้เกิดปัญหา

“คนตื่นตัวกันมาก แต่ก็มีความตระหนกเพิ่มขึ้นด้วย เพราะความกลัวและไม่รู้ การทำให้คนมีความรู้เท่าทันข้อมูล และเรียนรู้ปฏิบัติกับข้อมูลได้อย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันส่งเสริม”

ดร.จิราพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่าในโลกของข่าวสารที่ทุกคนผลิตเนื้อหาได้ คนที่แชร์ข้อมูลอาจคิดว่าตัวเองเป็นต้นแหล่งของข้อมูลนั้น ๆ แต่ไม่รู้ว่าเขาอาจกลายเป็นเหยื่อของข่าวลวงได้เช่นกัน

“Cofact จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลสกัดข่าวลวงได้ระดับหนึ่ง ถ้าหากสามารถหาโครงสร้างที่เหมาะสมและพัฒนาระบบได้จะแก้ปัญหาข่าวลวงได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

โครงการนี้เป็นความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, Center for Humanitarian Dialogue (HD), Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF), ดำเนินการโดย ChangeFusion และ OpenDream มีภาคีผู้ด้านเนื้อหาอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) เป็นต้น